การผ่าตัดมะเร็งปอดโดยการส่องกล้อง 5/5 (2)

โรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มมะเร็งทั้งหมดมาตั้งแต่อดีต เนื่องจาก ณ เวลาที่ค้นพบโรค ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยจะอยู่ในระยะที่ 4 หรือระยะกระจายแล้ว ในปัจจุบันถึงแม้ว่าโรคมะเร็งปอดยังคงเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตที่สูงที่สุดของมะเร็งโดยรวม แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นมีการใช้ Low dose computed tomography (low dose CT), Computed tomography guided biopsy (CT-guided biopsy), Navigational bronchoscopy และ Positron emission tomography(PET/CT) ทำให้เราสามารถตรวจพบและวินิจฉัยมะเร็งปอดได้เร็วขึ้นในระยะที่ 1 หรือ 2  ซึ่งคนไข้ในกลุ่มนี้เราสามารถได้รับการรักษาให้หายขาดด้วย การผ่าตัดมะเร็งปอดโดยการส่องกล้อง ผ่าตัดส่องกล้องตัดปอดกลีบที่มีมะเร็งออกไปทั้งกลีบ (VATS lobectomy)

การผ่าตัดมะเร็งปอดโดยการส่องกล้อง คืออะไร

การผ่าตัดมะเร็งปอดด้วยการส่องกล้อง

เรียบเรียงโดย นพ. ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม

ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางผ่าตัดส่องกล้องปอด

โรงพยาบาลวัฒโนสถและโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

การผ่าตัดมะเร็งปอดโดยการส่องกล้อง เทคโนโลยีใหม่ในการรักษา

การผ่าตัดส่องกล้องในช่องอกยังมีที่ใช้ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายไปที่เยื่อหุ้มปอดหรือเยื่อหุ้มหัวใจ (Pleural or pericardial metastasis) ก่อให้เกิดโรคน้ำในช่องปอดหรือช่องหัวใจจากมะเร็ง (Malignant pleural or pericardial effusion) โดยจะเป็นการผ่าตัดระบายน้ำขังเพื่อประคับประคองอาการ

 

การรักษามะเร็งปอดนั้นมี 3 วิธีการหลัก ๆ กล่าวคือ ผ่าตัด เคมีบำบัด และ ฉายแสง โดยขึ้นอยู่กับระยะของโรคเมื่อตรวจพบ ซึ่ง แบ่งเป็นระยะได้ ดังนี้

ระยะที่ 1 (มะเร็งก้อนเล็กกว่า 3 เซนติเมตรและอยู่ในเนื้อปอดเท่านั้น) : ในคนไข้กลุ่มนี้เราสามารถรักษาโดยผ่าตัดได้เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องรับเคมีบำบัดและฉายแสง โดยเฉพาะหากตรวจพบในระยะ 1a (ก้อนเล็กกว่า 1 เซนติเมตร) หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตเกิน 5 ปีหรือหายขาดได้สูงถึง 92%1  ซึ่งในปัจจุบันมีการทำคัดกรองมะเร็งปอด (lung cancer screening program) ด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (low dose CT) ในกลุ่มที่มีเสี่ยงจะเป็นมะเร็งปอดสูงเช่น บุหรี่วันละซองมากกว่า 30 ปีหรือเทียบเท่า มีประวัติมะเร็งปอดในครอบครัว เป็นต้น2 ทำให้เราสามารถตรวจพบผู้ป่วยในระยะนี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ระยะที่ 2 (มะเร็งก้อนใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร หรือ แพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองในเนื้อปอดแต่ยังไม่ผ่านขั้วปอด) : ในคนไข้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รักษาโดยการผ่าตัดเป็นหลัก และอาจจะได้รับหรือไม่ได้รับเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเป็นกรณีไป2

ระยะที่ 3 (มะเร็งลุกลามไปอวัยวะอื่นในช่องอก หรือ แพร่ผ่านต่อมน้ำเหลืองขั้วปอด) : ในคนไข้กลุ่มนี้การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่เคมีบำบัดหรือภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นหลัก โดยร่วมกับผ่าตัดและฉายแสงเป็นกรณีไป2,5

ระยะที่ 4 (มะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่น หรือ มีน้ำในช่องอกจากเชื้อมะเร็ง) : ในคนไข้กลุ่มนี้จะได้รับการรักษาโดยเคมีบำบัดหรือภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อบรรเทาอาการ โดยอาจมีการผ่าตัดเพื่อทุเลาอาการหากจำเป็น2

 

การผ่าตัดส่องกล้อง (VATS) 

ในกลุ่มมะเร็งปอดระยะที่ 1 และ 2 นั้นด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เราสามารถผ่าตัดปอดออกทั้งกลีบ (lobectomy) หรือ ผ่าตัดน้อยกว่าทั้งกลีบ (sublobar resection) ด้วยการส่องกล้อง หรือ Video-assisted thoracic surgery (VATS) โดยมีความแตกต่างกับการผ่าตัดเปิดช่องอกแบบเดิม (thoracotomy) ในประเด็นหลักคือ การไม่ใช้เครื่องถ่างขยายซี่โครง (rib spreader) ซึ่งการใช้เครื่องถ่างขยายซี่โครงเปิดช่องอกนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยได้หลายปัจจัย เช่น ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดสูงขึ้น ขนาดแผลใหญ่ กลับไปทำงานได้ช้าลง โอกาสปวดร้าวหรือชาตามเส้นประสาทในระยะยาวสูงขึ้น เวลาพักฟื้นเพื่อรับเคมีบำบัดนานขึ้น ระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาลสูง 5-7 วัน เทียบกับ 2-3 วันสำหรับผ่าตัดส่องกล้อง เป็นต้น 3,4

ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมากทำให้ความคมชัดของกล้องมากขึ้นและกล้องขนาดเล็กลงเพียง 5 มิลลิเมตร ทำให้ในปัจจุบันผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดส่องกล้องต่ำกว่าจากการผ่าตัดแบบเปิดช่องอก3 การผ่าตัดส่องกล้องจึงเป็นที่นิยมสูง โดยเทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้น มีได้ทั้งผ่าตัดแบบ 3 แผล (three ports), 2 แผล (two ports) และ แผลเดียว (uniport) โดยการเลือกผ่าตัดชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแพทย์ผู้ผ่าตัดและลักษณะโรคของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

ส่วนการที่จะเลือกทำการผ่าตัดเป็นทั้งกลีบหรือน้อยกว่าทั้งกลีบนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของมะเร็ง การทำงานทางปอดของผู้ป่วย อายุ เป็นต้น โดยจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

 

การผ่าตัดแบบเปิดช่องอก (Thoracotomy)

ในกลุ่มมะเร็งปอดระยะที่ 3 โดยคนไข้ในกลุ่มนี้ตัวโรคมีการลุกลามไปอวัยวะอื่นในช่องอกหรือมาพิจารณาผ่าตัดหลังจากที่ได้รับเคมีบำบัด การผ่าตัดแบบเปิดช่องอกจะมีประโยชน์สำหรับคนไข้กลุ่มนี้เนื่องจากมีโอกาสที่ต้องนำปอดออกทั้งข้าง (Pneumonectomy)  หรือต้องทำการการตัดต่อเส้นเลือดหรือหลอดลม (Sleeve resection) ซึ่งการผ่าตัดเหล่านี้มีความซับซ้อนสูงกว่าการผ่าตัดกลีบปอดออกเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่เหมาะสมเราสามารถทำการผ่าตัดด้วย Robotic assisted thoracic surgery (RATS) ได้ ซึ่งการใช้แขนกลของ Robot ทำให้เราสามารถควบคุมบริเวณที่ซับซ้อนได้เช่นเดียวกับผ่าตัดเปิดช่องอกแต่ไม่ต้องเปิดแผลขนาดใหญ่และใช้เครื่องถ่างขยายปอด

การผ่าตัดมะเร็งปอดโดยการส่องกล้อง นับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้ผลในการรักษาเป็นอย่างดี ขั้นตอนในการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของมะเร็ง รวมถึงการทำงานของปอดผู้ป่วยแต่ละคนด้วย ซึ่งจะต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเป็นกรณีไป

Reference

  1. IASLC staging system (8th edition) 2016
  2. NCCN 2017
  3. Peterson et al, Ann Thorac Surgery 2007
  4. Nicastri et al, JTCS 2008
  5. Int 0139, Lancet 2009

TH-8499

กรุณาให้คะแนน