ภัยร้ายจากควันบุหรี่ จากข้อมูลของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า มีคนไทยเสียชีวิตเพราะบุหรี่ปีละ 51,651 คน หรือวันละ 141 คน และโดยเฉลี่ยแล้วจะป่วยหนัก 2.5 ปีก่อนที่จะเสียชีวิตลง
ในควันบุหรี่ประกอบไปด้วยสารเคมีหลายชนิดและยังสามารถลอยปะปนอยู่ในอากาศได้นานถึง 5 ชั่วโมงโดยไม่เหลือกลิ่นให้รับรู้ได้เลย หากอยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อตา จมูก คอ ส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดศีรษะ หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืดหรือภูมิแพ้ก็สามารถทำให้อาการของโรคเหล่านั้นกำเริบขึ้นมาได้ หากต้องสูดดมควันบุหรี่เข้าไปเป็นประจำจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด และโรคมะเร็ง เพราะสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิดในบุหรี่นั้นเป็นสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และมากกว่า 70 ชนิดในนั้นเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น
- เบนซีน เป็นสารก่อมะเร็งที่พบมากในยาฆ่าแมลง มักติดมากับใบยาสูบ
- ฟอร์มาลีน หรือฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นสารก่อมะเร็งที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุต่าง ๆ ในร่างกาย
- สารตะกั่ว เป็นสารโลหะหนักที่ทำลายไต ระบบประสาท สมอง และเม็ดเลือดแดงอย่างรุนแรง สามารถดูดซึมผ่านผิวหนังได้ดีโดยเฉพาะผิวหนังของเด็ก
- แคดเมียม เป็นสารโลหะหนักที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตับ ไต และสมอง ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงปอดและอัณฑะได้ด้วย
- พอลโลเนียม-210 เป็นสารกัมมันตรังสี ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งปอด
ทั้งยังมีสาร ทาร์ ที่ส่งผลต่อมะเร็งปอดได้อย่างรุนแรงเพราะสารทาร์จะไปเคลือบปอดให้เหมือนมียางมะตอยติดอยู่จึงเป็นสาเหตุให้สารพิษต่าง ๆ เกาะติดอยู่กับปอดได้ดีขึ้น โดยมะเร็งปอดถือว่าเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 2 ในประเทศไทยสำหรับเพศชาย และเป็นอับดับที่ 4 สำหรับเพศหญิง
บุหรี่ไม่เพียงส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดเท่านั้นแต่ยังเป็นเหตุให้เกิดมะเร็งได้นับสิบชนิด คือ มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอและกล่องเสียง มะเร็งหลอดลมและปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ไม่เพียงแต่ตัวผู้สูบบุหรี่เท่านั้นที่จะได้รับผลร้ายจากควันบุหรี่ แต่ผู้ที่อยู่รอบตัวผู้สูบบุหรี่จะได้รับอันตรายที่มากกว่าเพราะควันบุหรี่ที่ออกมาจากปลายมวนบุหรี่ที่ติดไฟจะกระจายอยู่ในอากาศโดยตรงโดยไม่ผ่านตัวกรองอะไรทั้งสิ้น และยังสามารถตกค้างอยู่บนพื้นผิวของสิ่งต่าง ๆ ได้นานหลายปี เช่น ผิวหนัง ผม ซอกเล็บ ซอกฟัน เสื้อผ้า ที่นอน เบาะรถ หรือสิ่งของที่อยู่ในสถานที่นั้น อีกทั้งสารพิษต่าง ๆ สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของเด็กได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากเด็กมีอัตราการเผาผลาญอาหารที่สูงกว่าและมีอัตราการหายใจที่เร็วกว่า ทั้งยังอยู่ในช่วงวัยที่อวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ กำลังพัฒนา เมื่อได้รับสารพิษเข้าไปจึงสามารถเข้าสู่ทุกระบบในร่างกายได้ง่ายและออกฤทธิ์ได้รุนแรงกว่าผู้ใหญ่
การหลีกเลี่ยงสารพิษจากควันบุหรี่ สามารถทำได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ
- ไม่อนุญาตให้มีการสูบบุหรี่ในบ้าน รถยนต์ หรือสถานที่ที่ต้องใช้ร่วมกันกับผู้สูบบุหรี่ รวมถึงต้องมีการทำความสะอาดร่างกายก่อนเข้าบ้าน
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้สูบบุหรี่หรือเขตสูบบุหรี่ และเพิ่มความระวังเหล่านี้เป็นพิเศษสำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจ เมื่อกลับถึงบ้านแล้วก็ต้องทำความสะอาดร่างกายด้วย
- เลิกสูบบุหรี่
ในทางสรีระโดยปกติแล้วอวัยวะทุกส่วนจะเริ่มมีการเสื่อมถอยลงไปทุกปีตามวัย โดยเฉพาะสมรรถภาพการทำงานของปอดในผู้สูบบุหรี่จะมีอัตราการเสื่อมถอยที่รวดเร็วมาก หากสามารถหยุดหรือเลิกสูบบุหรี่ได้ความเสื่อมถอยของปอดก็จะเกิดขึ้นในอัตราความเร็วที่ช้าลง และความเสี่ยงที่จะเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ โดยเฉพาะมะเร็งปอดก็จะลดลงทั้งต่อตัวผู้สูบเองและผู้คนรอบข้างด้วยเช่นกัน
TH-11492