ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด ก่อนอื่นต้องขอทำเข้าใจก่อนนะครับว่าปัจจัยเสี่ยงคือ สิ่งใดก็ตามที่ทำให้ โอกาสในการเป็นโรคมะเร็งปอดสูงขึ้นกว่าคนทั่วไป การที่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีหลายอย่างก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นโรคมะเร็งปอดเสมอไป ในทางกลับกันถึงแม้ว่าจะไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ หรือมีเพียงเล็กน้อยก็ยังสามารถป่วยเป็นมะเร็งได้แม้โอกาสจะน้อยก็ตาม
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด มีอะไรบ้าง ป้องกันได้อย่างไร
เรียบเรียงโดย นพ.ศิวัช ศักดิ์เดชยนต์
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด ภัยร้ายใกล้ตัว
ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด แบ่งเป็นสองประเภท
ปัจจัยเสี่ยงบางชนิดสามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น การสูบบุหรี่ ฝุ่นละออง บางอย่างก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากอายุ หรือพันธุกรรม ดังนั้นเรามาทำความรู้จักปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เพื่อลด ละ เลิก รวมถึงเฝ้าระวังให้เราปลอดภัยจากโรคมะเร็งปอดกันมากที่สุด
บุหรี่และยาสูบ
บุหรี่และยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนที่สุดของโรคมะเร็งปอด บุหรี่มีสารประกอบมากถึง 4,000 ชนิด ในจำนวนนี้มีสารหลายชนิดที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น ทาร์ หรือน้ำมันดิน ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ ฯลฯ ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึงสิบเท่า ว่ากันว่า 80% ของผู้ที่เสียชีวิตจากมะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่หลายมวนต่อวัน และระยะเวลาที่นานหลายปีโอกาสที่เป็นก็จะยิ่งมากขึ้นตามลำดับ
มวนยาเส้น ใบจาก และบุหรี่ขี้โย ซึ่งเป็นยาสูบพื้นบ้านในประเทศไทย ก็ถือเป็นตัวการสำคัญของโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท เนื่องจากมีราคาถูก เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านปฏิบัติต่อเนื่องกันมานาน รวมถึงชาวบ้านมักจะนึกว่ายาสูบเหล่านี้ไม่ใช่บุหรี่ ไม่อันตราย แต่ในความเป็นจริงบุหรี่พื้นบ้าน น่ากลัวกว่า และมีข้อมูลสนับสนุนว่าร้ายแรงยิ่งกว่าบุหรี่ทั่ว ๆ ไปหลายเท่า ทั้งในแง่การเกิดมะเร็งปอด และโรคถุงลมโป่งพอง
บุหรี่ผสมเมนทอลและบุหรี่แบบอ่อน (light cigarettes) ก็ยังถือว่าไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง เมื่อเปรียบเทียบกับบุหรี่ทั่วไป อีกทั้งบุหรี่เมนทอลอาจจะทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่เสี่ยงต่อโรคปอดมากขึ้นจากการดูดลงปอดลึกขึ้น
บุหรี่ไฟฟ้า มีคำถามเรื่องนี้พอสมควร เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าเริ่มเป็นที่นิยมในคนไทยและทั่วโลก คิดว่าเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยจริงหรือไม่? ต้องยอมรับว่าในตอนนี้ยังไม่ข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุหรี่ไฟฟ้าและมะเร็งปอดเพราะโทษของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นระยะเวลานาน ๆ ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ แต่ก็มีคำเตือนมาจากนักวิชาการพอสมควร ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปล่อยสารพิษออกมาหลายชนิดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปอด เช่น ทำให้เกิดหอบหืด นอกจากนี้ ยังมีรายงานพบสารพิษอะโครลีนในบุหรี่ไฟฟ้า ที่สามารถทำให้ปอดอักเสบ รวมถึงสัมพันธ์กับมะเร็งปอดได้
จะเสริมว่า ในอดีตกว่าที่จะสามารถพิสูจน์เรื่องอันตรายของบุหรี่ ให้เป็นที่ยอมรับ ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานหลายสิบปี มีคนเสียชีวิตจากมะเร็งปอดไปมากมาย ก่อนที่จะมีการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่อย่างในปัจจุบันดังนั้นหลีกเลี่ยงไว้ก่อนมารู้ตอนสายในภายหลัง จึงน่าจะดีกว่า
บุหรี่มือสอง หรือการรับควันบุหรี่ของคนอื่น คนไข้มะเร็งปอดบางคนไม่ได้สูบบุหรี่ด้วยตัวเอง แต่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่ตลอดเวลาเป็นระยะเวลาหลายปี เช่นในครอบครัวมีคนสูบประจำ ทำงานในที่ ๆ มีคนสูบบุหรี่เยอะ ๆ ก็จะเสี่ยงต่อมะเร็งปอดคล้ายๆกัน คาดว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตจากการได้รับบุหรี่มือสองประมาณ 7,000 คนต่อปี
แอสเบสตอสหรือแร่ใยหิน
แร่ใยหินพบได้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น เหมืองแร่ โรงโม่หิน ผ้าเบรค คลัช ฉนวนกันความร้อน อู่ต่อเรือ เป็นต้น คนที่สัมผัสแร่ใยหินจะมีโอกาสเกิดมะเร็งปอดและมะเร็งของเยื่อหุ้มปอดชนิดมีโสธีลิโอมา (Mesothelioma) ได้มากขึ้นหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สูบบุหรี่ร่วมด้วยจะเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดกว่าคนทั่วไปถึง 90 เท่า ในปัจจุบันรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยมีความพยายามในการออกกฎหมายควบคุมการใช้แร่ใยหินในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จนปริมาณการใช้แอสเบสตอสลดลงกว่าเดิม
ไอพิษหรือสารระเหยจากการทำงาน
เช่น สารหนู (arsenic) , แคดเมียม (cadmium) ถ่านหิน ไวนิลคลอไรด์ หรือแม้กระทั่งไอเสียดีเซล อีเธอร์ มัสตาร์ดแก็ส สารกัมมันตรังสีเช่น เรดอน ยูเรเนียม เป็นต้น หากคุณจำเป็นต้องทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีสารดังกล่าว ก็ควรหลีกเลี่ยงหรือใส่อุปกรณ์ป้องกันตลอดเวลา
มลภาวะทางอากาศ หรือ PM 2.5 ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยตื่นตัวเกี่ยวกับมลพิษที่เกิดจากฝุ่นควันขนาดเล็กในอากาศที่พบมากเป็นประวัติการณ์ ฝุ่นที่มีขนาดยิ่งเล็กยิ่งส่งผลเท่าไรต่อสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น โดยปกติร่างกายจะมีกลไกป้องกันตัวตามธรรมชาติในขับฝุ่นที่ขนาดใหญ่ ออกจากทางเดินหายใจการไอ หรือจาม แต่ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน จะเข้าสู่ส่วนลึกและเกาะติดในเนื้อปอด นอกจากนี้ฝุ่นที่เล็กกว่านั้นมาก ๆ จะสามารถเข้าสู่กระแแสเลือดได้เหมือนกับออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไป
มลพิษทางอากาศส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ ขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับ ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย การเข้ารักษาในโรงพยาบาล ทำให้เกิดเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ หอบหืด หรือแน่นอนว่าโรคมะเร็งปอด หากได้รับเป็นเวลานาน ๆ มีข้อมูลว่าผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศเหล่านี้เป็นเวลานานทำให้มีอายุขัยสั้นลงถึง 3 ปี ในปี 2013 สถาบัน IARC หรือ International Agency for Research on Cancer สรุปว่าฝุ่นในอากาศขนาดเล็กทำให้เกิดมะเร็งปอด โดยมีรวบรวมหลักฐานยืนยันจากการศึกษาทั่วโลก ทั้งจากฝั่งอเมริกา ยุโรป เอเชีย รวมถึงรายงานพบสารก่อมะเร็งในมลพิษทางอากาศหลายชนิด ในหลายประเทศได้มีตระหนักและมีความพยายามที่จะลดฝุ่นมลพิษในอากาศ ตั้งแต่ช่วงปี 2,000 และพบว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวมีสุขภาพที่ดีขึ้น อย่างรวดเร็ว และอาจจะป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ถึง 34,000 รายต่อปี เราคนไทยเอง จากปัญหาฝุ่นที่สูงมากในปีที่ผ่านมา เราเองก็ต้องลุกขึ้นมารู้จักป้องกันตัวเอง เช่น ใส่หน้ากากอนามัย ร่วมกันรณรงค์ลดการสร้างฝุ่นละอองกันมากขึ้น
การได้รับรังสีรักษาที่บริเวณหน้าอก การรับรังสีรักษาที่บริเวณหน้าอกหรือเต้านม จะมีเนื้อปอดบางส่วนโดนรังสีด้วย ส่งผลให้มีการกลายพันธุ์ของเซลล์และกลายเป็นมะเร็งปอดในที่สุด อย่างไรก็ตามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะเลือก และพิจารณาข้อดี ข้อเสียอย่างดีก่อนให้การรักษา และทำเมื่อกรณีจำเป็นเท่านั้น หากไม่แน่ใจควรพูดคุยสอบถามกับแพทย์ก่อนครับ
ประวัติครอบครัว
หากเคยเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมาก่อน คุณก็มีโอกาสจะเป็นโรคมะเร็งปอดในตำแหน่งอื่น ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงการที่มีญาติสายตรง เช่น พ่อแม่ พี่น้องในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ก็จะมีความเสี่ยงกว่าคนทั่วไปเล็กน้อยโดยเฉพาะเมื่อญาติคนนั้นเป็นโรคตั้งแต่อายุยังน้อย
อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะสมาชิกในครอบครัวก็จะอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน จึงมีโอกาสจะได้รับปัจจัยเสี่ยงร่วมกัน เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ แอสเบสตอสจากวัสดุที่ใช้ก่อสร้างบ้าน เป็นต้น
อาหารเสริมบางชนิด
ทุก ๆ อย่างมีข้อดีและข้อเสียครับ อาหารเสริมบำรุงสุขภาพก็เช่นกัน มีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกินอาหารเสริมเบตาคาโรทีนในผู้ที่สูบบุหรี่เพื่อหวังผลในการป้องกันมะเร็งปอด แต่ผลกลับออกมาตรงกันข้าม คือกลับทำให้เป็นมะเร็งปอดมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ การศึกษาเหล่านี้สรุปว่าผู้ที่สูบบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมเบตาคาโรทีนปัจจัยเสี่ยงอื่นที่น่าสนใจแต่ยังสรุปผลไม่ได้แน่ชัด
การสูบกัญชา
มีหลายเหตุผลที่การสูบกัญชาอาจจะส่งผลต่อมะเร็งปอด เราสามารถพบทาร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่สำคัญที่สุดในบุหรี่ยาสูบทั่วไป ได้ในกัญชาแบบสูบ หรือบุหรี่กัญชา พฤติกรรมการสูบกัญชาจะสูบจนหมดมวนซึ่งทาร์จะพบได้เยอะตรงก้นมวน รวมถึงการสูบจะดูดลึกและอัดเก็บไว้ในปอดนาน ๆ ส่งผลให้สารก่อมะเร็งเข้าได้ลึกและเก็บอยู่ในปอดมากกว่าการสูบบุหรี่ทั่ว ๆ ไป แต่ผู้ที่สูบกัญชาก็มักจะมีปริมาณการสูบต่อวันน้อยกว่าบุหรี่ จึงอาจจะเป็นมะเร็งได้น้อยกว่า
การสรุปผลของการสูบกัญชาในระยะยาวต่อมะเร็งทำได้ยาก เนื่องจากผิดกฎหมายและถูกควบคุมในหลายประเทศ ส่งผลให้การเก็บข้อมูลจึงอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก อีกทั้งผู้ที่สูบกัญชาส่วนใหญ่ก็มักจะสูบบุหรี่ร่วมด้วย การประเมินความเสี่ยงจากสองปัจจัยรวมกันจึงทำได้ยากกว่าปกติมาก
แป้งทาตัว (Talcum powder)
ในอดีตแป้งทาตัวผลิตจากทอล์คตามธรรมชาติ ซึ่งได้จากการทำเหมือง ในแร่เหล่านี้จะมีแอสเบสตอส ที่เป็นสารก่อมะเร็งปอดที่สำคัญ อย่างไรก็ตามหลายสิบปีที่ผ่านมาแป้งทาตัวที่ใช้ตามบ้านเรือน เช่นแป้งเด็ก แป้งทาตัว ทาหน้า เครื่องสำอางค์ ไม่มีแอสเบสตอส จึงไม่พบว่าการใช้เครื่องสำอางคฺ์พวกแป้งในปัจจุบัน เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดแต่อย่างใด
ดังนั้นหากได้รู้แบบนี้แล้ว อยากให้ทุกคนมองตัวเองว่ามีปัจจัยเสี่ยงหรือทำให้คนอื่นได้รับปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ แล้วช่วยกันลดความเสี่ยงทั้งกับตัวเองและกับผู้อื่น เพื่อให้เราปลอดภัยจากโรคมะเร็งปอดกันทุกคน
สำหรับผู้ที่เป็นหรือมีคนที่รักเป็นมะเร็งปอด ไม่อยากให้การทราบเกี่ยวกับเรื่องปัจจัยเสี่ยง มาทำให้รู้สึกผิดหรือกล่าวโทษกัน เช่น “รู้งี้ไม่น่าสูบบุหรี่, ทำอะไรผิดมาจึงมาป่วยเป็นโรคมะเร็ง” อยากให้ทุกคนมองไปข้างหน้าในตอนนี้การรักษามะเร็งปอดพัฒนาไปมาก ผลลัพธ์การรักษาดีกว่าแต่ก่อนมารู้จักมันให้ดีพอ รู้จักถึงวิธีการรักษา วิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เป็นกำลังใจซึ่งกันและกันในการรักษาตัวดีกว่าครับ”
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด ภัยร้ายใกล้ตัว
บางครั้ง ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด ก็ซ่อนอยู่ในของใกล้ตัว หรืออยู่ในสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ หากรู้ว่าอะไรที่ทำให้เกิดความเสี่ยงได้ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยง และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้อย่างทันท่วงที
TH-18527