การลดอาการเหนื่อยหอบในผู้ป่วยมะเร็งปอด 5/5 (4)

การลดอาการเหนื่อยหอบในผู้ป่วยมะเร็งปอด

เรียบเรียงโดย นิดา วงศ์สวัสดิ์

นักกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อาการหอบเหนื่อยมักพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดทั้งในระยะก่อนและหลังผ่าตัด สาเหตุจากอาการโรค และขั้นตอนในการรักษาล้วนส่งผลให้เกิดอาการหอบเหนื่อย และลดความสามารถในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ในปอดของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยมะเร็งปอดมักจะทำกิจวัตรประจำวันและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ลดลง และมีอาการปวด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยิ่งส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจหอบเหนื่อย จนกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรงเนื่องจากมีการดึงกล้ามเนื้อมัดอื่นมาช่วยในการหายใจ ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้ไม่มีประสิทธิภาพ

การลดอาการหอบเหนื่อยในผู้ป่วยมะเร็งปอดสามารถทำได้ ดังนี้

  1. การจัดท่าทางเพื่อลดอาการหอบเหนื่อย

            การจัดท่าทางเพื่อลดอาการหอบเหนื่อย เป็นท่าที่ส่งเสริมให้กะบังลมทำงานได้ดีขึ้น วิธีการจัดท่าทางเพื่อลดอาการหอบเหนื่อย ผู้ทำอยู่ในท่าโน้มลำตัวมาด้านหน้า ทำให้อวัยวะภายในช่องท้องดันความโค้งของกะบังลมให้ความยาวอยู่ในช่วงที่เหมาะสมสำหรับการทำงาน ช่วยให้หายใจได้ง่ายขึ้น และลดการทำงานของกล้ามเนื้อเสริมในการหายใจ ได้แก่ กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ ซึ่งมักจะเข้ามาช่วยทำงานเวลาที่เราหายใจได้ไม่ถูกต้องหรือมีอาการหอบเหนื่อย และเมื่อเราใช้กล้ามเนื้อเสริมในการหายใจบ่อย ๆ เป็นเวลานาน ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อเหล่านี้ปวดและเกิดภาวะที่ไม่สุขสบายต่อไปได้

รูปที่ 1 ท่านั่งเพื่อลดอาการหอบเหนื่อย
รูปที่ 2 ท่ายืนเพื่อลดอาการหอบเหนื่อย
  1. 2. การฝึกการหายใจ

เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ทั้งก่อนและหลังผ่าตัด การหายใจที่ถูกวิธีทำให้

  • การถ่ายเทอากาศของปอดดีขึ้น ร่างกายได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น
  • เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ
  • ไอได้มีประสิทธิภาพ
  • ช่วยเคลื่อนและขับเสมหะ
  • ลดแรงในการหายใจ หายใจได้ง่ายขึ้น
  • ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของทรวงอกดีขึ้น
  • ลดภาวะแทรกซ้อนภายหลังผ่าตัด
  • ผ่อนคลาย ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และลดปวด

 

การฝึกหายใจแบบใช้กะบังลม (Diaphragmatic breathing)

การฝึกหายใจแบบใช้กะบังลม ทำให้การหายใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยเพิ่มการระบายอากาศบริเวณฐานปอด ลดงานหรือแรงที่ใช้ในการหายใจ และลดอาการหอบเหนื่อย การฝึกควบคุมการหายใจผู้ป่วยควรอยู่ในท่าทางที่สบาย ผ่อนคลายไหล่และแขนทั้งสองข้างหรืออยู่ในท่าทางเพื่อลดอาการหอบเหนื่อย

การฝึกหายใจแบบใช้กะบังลม เมื่อหายใจเข้า กล้ามเนื้อกะบังลมหดตัวเคลื่อนตัวลงล่างส่งผลให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้บริเวณหน้าท้องใต้ลิ้นปี่ยื่นออก และทรวงอกส่วนล่างขยายออกช้า ๆ เมื่อหายใจออกกล้ามเนื้อกะบังลมคลายตัวและเคลื่อนที่ออกจากช่องท้องทำให้ความดันในช่องท้องลดลง บริเวณหน้าท้องใต้ลิ้นปี่แฟบลง และทรวงอกส่วนล่างแฟบลง ขณะฝึกใช้ฝ่ามือวางทาบบริเวณใต้ลิ้นปี่เพื่อเช็คความถูกต้อง “หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ”

รูปที่ 3 หายใจเข้าท้องป่อง กะบังลมลดลง

รูปที่ 4 หายใจออกท้องแฟบ กะบังลมยกขึ้น

การฝึกหายใจแบบเป่าลมออกทางปาก (pursed-lips breathing)

การฝึกหายใจแบบเป่าลมออกทางปาก เป็นการหายใจออกที่เกิดแรงดันที่ท่อทางเดินอากาศ ลดการตีบแคบของทางเดินหายใจ และช่วยให้ผ่อนคลายทำให้ลดอาการปวดได้ การฝึกหายใจแบบเป่าลมออกทางปากมักใช้ร่วมกับการฝึกหายใจแบบใช้กะบังลม เริ่มการฝึกผู้ป่วยหายใจเข้า และหายใจออกห่อปากจู๋แล้วค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกช้า ๆ ทางปากให้นานที่สุดอาจใช้การนับเลขในใจเพื่อเป็นการควบคุมความยาวในการหายใจออก เช่น หายใจเข้านับเลข 1-2 หายใจออกยาว ๆ นับ 1-4

รูปที่ 5 หายใจออกแบบเป่าปาก

แหล่งที่มา

กรอนงค์ ยืนยงชัยวัฒน์, จิตานันท์ เหล่าศิริไพศาล, นพวรรณ จารุสุสินธ์. (2551). ตำรากายภาพบำบัดในระบบหัวใจและระบบหายใจ Cardiopulmonary Physical Therapy. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

TH-11489

กรุณาให้คะแนน