การบริหารทรวงอกด้วยตนเอง 4/5 (4)

การบริหารทรวงอกด้วยตนเอง เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพปอด

สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยการออกกำลังกายเป็นวิธีการรักษาที่สำคัญอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคนี้ โดยเฉพาะการออกกำลังกายด้วยตนเองที่บ้าน เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น ช่วยลดอาการหอบเหนื่อย เพิ่มความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดความวิตกกังวล และป้องกันการกำเริบของโรค เป็นต้น

เรียบเรียงโดย นิดา วงศ์สวัสดิ์

นักกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

การเคลื่อนไหวทรวงอกด้วยตนเอง (Active chest mobilization)

การเคลื่อนไหวทรวงอกด้วยตนเอง เป็นการเคลื่อนไหวทรวงอกที่สัมพันธ์กับการหายใจเข้าและออก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของทรวงอกและยืดผนังทรวงอก ผู้ป่วยสามารถทำในท่าที่ตนเองสามารถทำได้ ช่วงการเคลื่อนไหวที่ตนเองรู้สึกอกขยายและไม่เจ็บหรือปวด สามารถทำ 5-10 ครั้ง/รอบ และทำวันละ 2-3 รอบต่อวัน หากมีอาการผิดปกติเช่น หอบเหนื่อยมากขึ้น หน้ามืด เวียนศีรษะ หรือมีอาการปวดแผลมากขึ้นให้หยุดทำ

รูปที่ 1ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งหรือท่ายืน วางเท้าราบกับพื้น
  • การเคลื่อนผนังทรวงอกด้านหน้าและหลัง (Stretch antero-posterior chest wall)

ขณะหายใจเข้ายกมือเหนือศีรษะ 2 ข้าง แขนเหยียดตรง และกางแขนออกเล็กน้อย ขณะหายใจออกโน้มตัวไปด้านหน้า หุบแขนเข้าหากัน และก้มตัวลงพยายามให้มือแตะพื้น กลับมาหายใจเข้าอีกครั้งพร้อมยืดตัว ยกแขนขึ้นและกางออก กลับสู่ท่าเริ่มต้น

รูปที่ 2 ท่าขณะหายใจเข้าและหายใจออกเพื่อเคลื่อนผนังทรวงอกด้านหน้าและหลัง
  • การเคลื่อนผนังทรวงอกด้านหน้า และหลังส่วนบน (Stretch antero-posterior upper chest wall)

ขณะหายใจเข้า เอามือประสานท้ายทอย ยืดตัวขึ้นและกางศอกออก ขณะหายใจออก ก้มศีรษะลง หุบข้อศอก กลับมาหายใจเข้าอีกครั้งพร้อมเงยหน้าขึ้นและกางข้อศอกออก กลับสู่ท่าเริ่มต้น

รูปที่ 3 ท่าขณะหายใจเข้าและหายใจออกเพื่อเคลื่อนผนังทรวงอกด้านหน้า และหลังส่วนบน
  • การเคลื่อนผนังทรวงอกด้านหลังและด้านข้าง (Stretch posterolateral chest wall)

ขณะหายใจเข้า ยกมือซ้ายขึ้นเหนือศีรษะใช้มือขวาจับที่ข้อมือซ้าย ยืดตัวขึ้น หมุนตัวไปทางซ้าย ขณะหายใจออกหมุนตัวไปด้านขวา ดึงมือซ้ายไปทางด้านขวาและก้มตัวลง กลับมาหายใจเข้าอีกครั้งพร้อมยืดตัว ยกแขนขึ้น และหมุนตัวกลับสู่ท่าเริ่มต้น ต่อไปสลับซ้ายขวา

รูปที่ 4 ท่าขณะหายใจเข้าและหายใจออกเพื่อเคลื่อนผนังทรวงอกด้านหลังและด้านข้าง
  • การเคลื่อนผนังทรวงอกด้านข้าง (Stretch lateral chest wall)

ขณะหายใจเข้ายกมือซ้ายขึ้นเหนือศีรษะ ยืดตัวขึ้น ขณะหายใจออกเอื้อมมือซ้ายข้ามศีรษะเอียงตัวไปข้างขวา กลับมาหายใจเข้าอีกครั้งพร้อมดึงมือและลำตัวกลับ กลับสู่ท่าเริ่มต้น

รูปที่ 5 ท่าขณะหายใจเข้าและหายใจออกเพื่อเคลื่อนผนังทรวงอกด้านข้าง

การบริหารทรวงอกด้วยตนเอง ควรทำอย่างต่อเนื่อง

การบริหารทรวงอกด้วนตนเองตามวิธีที่ได้แนะนำไปนั้นควรทำในท่าที่สามารถทำได้ ต้องไม่มีอาการเจ็บในขณะที่ทำ และควรทำประมาณ 5-10 ครั้งต่อหนึ่งรอบ ในหนึ่งวันควรทำทั้งหมด 5-6 รอบ หากมีอาการเจ็บปวด หน้ามืด เวียนศรีษะ หรือคลื่นไส้เกิดขึ้น ควรหยุดทำทันที

ที่มา : เสาวนีย์ เหลืองอร่าม, พรทิพย์ ศรีโสภา, รวยริน ชนาวิรัตน์. (2561). การออกกำลังกายที่บ้านในผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง. วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด, 30(2), 228-236.

TH-8512

กรุณาให้คะแนน