หลักการจัดและกำหนดอาหารในผู้ป่วยมะเร็ง 4.91/5 (11)

ผู้ป่วยมะเร็ง ส่วนใหญ่จะมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร ทั้งจากความรุนแรงของโรคและผลข้างเคียงจากการรักษา  การเกิดภาวะทุพโภชนาการ  ส่งผลต่อการรักษา  การเกิดโรคแทรกซ้อนและการติดเชื้อได้ มีรายงานในต่างประเทศพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะโภชนาการที่ดีมีการตอบสนองต่อการรักษาและอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการร่วมด้วยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การกำหนดและจัดอาหารในผู้ป่วยมะเร็ง จึงมีความจำเป็นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ

เรียบเรียงโดย  สุวรรณา  สานุศิษย์ 

นักวิชาการโภชนาการ  ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ในขณะเจ็บป่วย ร่างกายต้องการพลังงานและสารอาหารเพิ่มขึ้น  เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในขณะนั้น  ถ้าร่างกายได้รับอาหารเพียงไม่พอ  ร่างกายจะสลายกล้ามเนื้อเพื่อให้ได้พลังงานทดแทน ส่งผลให้กล้ามเนื้อลีบ น้ำหนักตัวลด และเกิดภาวะขาดสารอาหารในที่สุด

การกำหนดอาหารในผู้ป่วย

  1. หาน้ำหนักที่ควรจะเป็น คือ                 

ผู้ชาย = ส่วนสูง – 100

ผู้หญิง = ส่วนสูง – 105

ตัวอย่าง  เช่น  ผู้ที่มีส่วนสูง 150  ซ.ม. น้ำหนักที่ควรเป็น ชาย = 50 ก.ก.

                                                                  หญิง = 45 ก.ก.

 

2.หาพลังงานที่ควรได้รับ คือ

น้ำหนักที่ควรเป็น  x  (30-35  กิโลแคลอรี่/ก.ก.)

ตัวอย่าง  เช่น  น้ำหนักที่ควรเป็น = ผู้ชาย  50 ก.ก. x 35  กิโลแคลอรี่ =  1,750 กิโลแคลอรี่/วัน

                                           ผู้หญิง 45 ก.ก. x 30 กิโลแคลอรี่ =  1,500 กิโลแคลอรี่/วัน

 

3.หาโปรตีนที่ควรได้รับ คือ

น้ำหนักที่ควรเป็น  x โปรตีน 1.2 – 1.5  กรัม/กิโลกรัม

ตัวอย่าง เช่น  น้ำหนัก 50 กิโลกรัม โปรตีนที่ควรได้รับ  60-75  กรัม/ วัน

 

ตัวอย่าง รายการอาหาร   1,500 –  1,700  กิโลแคลอรี่  โปรตีน  50 – 60 กรัม

ควรเลี่ยง       อาหารเผ็ดที่ประกอบด้วย  พริกขี้หนู พริกป่น พริกไทย น้ำพริก อาหารมัน

ควรลด         การปิ้งหรือย่างและอาหารรสขม      

ควรเพิ่มอย่างระมัดระวัง        รสเปรี้ยว รสเค็ม รสหวาน ใช้สมุนไพรตามสมควร เน้นพืชผักและธัญพืช

                                                         

สรุปการจัดอาหารให้กับผู้ป่วยมะเร็ง

  1. จัดให้มื้อละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น อาจเพิ่มเป็น 5-6 มื้อต่อวัน
  2. อาหารที่จัดให้ควรเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง โปรตีนสูงและเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย ไขมันต่ำ
  3. ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่จะชอบอาหารที่เย็นมากกว่าอาหารที่ร้อน ควรจัดอาหารประเภทไอศกรีมหรือสลัดให้รับประทาน
  4. ผู้ป่วยที่มีความสามารถในการรับรู้รสหวานน้อยลง ควรเพิ่มรสหวานในอาหารเพื่อให้ได้รับพลังงานและเพิ่มความอยากรับประทานมากขึ้น
  5. อาหารที่จัดให้ผู้ป่วยควรจะมีการตกแต่ง ปรุงแต่งรสให้น่ารับประทาน เพื่อดึงดูดให้ผู้ป่วยอยากรับประทานมากขึ้น
  6. การให้ยาเสริมแร่ธาตุสังกะสี สามารถช่วยให้การรับรู้รสของผู้ป่วยดีขึ้นและยังช่วยกระตุ้นความรู้สึกอยากอาหาร แต่ต้องไม่ขัดกับแผนการรักษาของแพทย์
  7. ผู้ป่วยบางคนจะรู้สึกเหม็นเนื้อหมู เนื้อวัว ควรจัดอาหารพวกไก่ และถั่ว ถ้าหากผู้ป่วยยังไม่สามารถรับประทานได้อีกให้จัดอาหารประเภทโปรตีนในรูปของไอศกรีมนมผสมไอศกรีมเนย

TH-8488

 

กรุณาให้คะแนน