PM2.5 ย่อมาจาก Particulate Matters 2.5 µm เป็นอนุภาคขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (เล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ 20 กว่าเท่า) ประกอบด้วยก๊าซพิษและสารก่อมะเร็ง เกิดจากการเผาไหม้จากเครื่องรถยนต์ การเผาในที่โล่งและควันจากโรงงานอุตสาหกรรม
PM2.5 มีผลกระทบกับสุขภาพอย่างไร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณรงค์กร ซ้ายโพธิ์กลาง
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ขึ้นกับพื้นที่ หากมีลักษณะเป็นแอ่ง ความกดอากาศสูงและอากาศเย็น มักจะมีความเข้มข้นสูง โดยมีค่าสูงสุดช่วงเช้ามืดถึงประมาณ 10 นาฬิกา และค่อย ๆ จางลงในช่วงบ่าย
การวัดค่าคุณภาพอากาศภาพรวมเรียกว่า Air Quality Index (AQI) ซึ่งประเมินจากค่าต่าง ๆ ได้แก่ PM2.5, PM10, ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) โดยมีค่าดัชนี ตั้งแต่ 0 – 500 หากดัชนีนี้มีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคระบบการหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืด โรคภูมิแพ้
ค่า PM2.5 ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกแนะนำระดับค่าเฉลี่ยรายวันไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (μg/m3) และค่าเฉลี่ยรายปีไม่ควรเกิน 10 μg/m3 แต่ในประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดค่าเฉลี่ยรายวันไม่ควรเกิน 50 μg/m3 และค่าเฉลี่ยรายปีไม่ควรเกิน 25 μg/m3 อาจด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ
ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพ
- ผลระยะสั้น ได้แก่ ระคายเคืองตา คอ และจมูก หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ ไอ แน่นหน้าอก เหนื่อย โรคหืดหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ
- ผลระยะยาว ได้แก่ การเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด ภูมิแพ้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปอดเป็นพังผืด มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เด็กคลอดก่อนกำหนด ผลต่อการเจริญเติบโตของปอดในเด็ก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในอนาคต โดยปกติแล้วปอดมนุษย์จะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 25 ปี หากมีสารพิษกระทบในช่วงเจริญเติบโตของปอดจะส่งผลเสียต่อสมรรถภาพการทำงานของปอดในระยะยาว
- การเสียชีวิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทุกระดับค่า PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 μg/m3 โดยเสียชีวิตจากมะเร็งปอดร้อยละ 15-21 และโรคหัวใจร้อยละ 12-14 เกิดจากสารที่สำคัญใน PM2.5 ได้แก่ emitted carbon (EC), black smoke (BS), organic carbon (OC), sodium (Na) และ silicon (Si)
ในปีพ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) กำหนดอย่างเป็นทางการว่า PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ซึ่งการเกิดมะเร็งผ่านกลไกเรียกว่า Epigenetic changes 3 อย่าง ได้แก่
- การลดลงของ DNA methylation
- การเปลี่ยนแปลงของ Histone modification
- และ MicroRNA regulation
โดยสารก่อมะเร็งใน PM2.5 ที่สำคัญ คือ Arsenic, Nickel chromate, Poly aromatic hydrocarbon (PAH) และสารกัมมันตรังสี ส่วนใหญ่มะเร็งปอดที่สัมพันธ์กับ PM2.5 เป็นชนิด Adenocarcinoma
นอกจากนี้ PM2.5 ยังส่งผลให้การออกกำลังในผู้ใหญ่ลดลง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ในเด็ก และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอีกด้วย
วิธีป้องกัน ฝุ่น PM2.5 ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย
การป้องกันไม่ให้ ฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกายนั้น มักจะเน้นที่การหลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านเป็นหลัก งดการออกกำลังกายในที่สาธารณะ เพราะอนุภาคของ PM2.5 นั้นเล็กมากจนแทบจะแทรกซึมได้ทุกสิ่ง หมั่นทำความสะอาดบ้านให้สะอาดอยู่เสมอหรือถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็ควรใช้หน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นขนาดเล็ก เช่น N95 มาใช้ในการป้องกันเป็นต้น
TH-11481