ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอด ทั้งที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับปอดได้มาก ดังนั้นการฝึกปฏิบัติทางกายภาพบำบัดจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้
เรียบเรียงโดย นิดา วงศ์สวัสดิ์
นักกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอด ในการผ่าตัดจะมีการใช้ยาสลบ ซึ่งผลของยาสลบมีผลต่อลดการทำงานของเซลล์ที่มีขน (Cilia) ในหลอดลม ซึ่งทำหน้าที่โบกเคลื่อนไหวเพื่อช่วยขับเสมหะร่วมกับผู้ป่วยมีอาการปวดแผลผ่าตัดทำให้ไม่สามารถไอเพื่อระบายเสมหะออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีเสมหะคั่งค้าง และขับเสมหะได้ยากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
ผลกระทบจากการผ่าตัดต่อระบบหายใจ
- ทำให้ปริมาตรอากาศที่ค้างอยู่ในปอดลดลง ในภาวะปกติเมื่อหายใจออกจะมีอากาศค้างอยู่ในปอด เพื่อคงสภาพของปอด เพื่อป้องกันไม่ให้ถุงลมในปอดหรือหลอดลมตีบแฟบ ในการผ่าตัดวางยาสลบจะมีผลให้อากาศที่คงค้างในปอดลดลง 30% เนื่องจากการใช้ยาสลบมีผลต่อความตึงตัวของกล้ามเนื้อกะบังลมลดลงทำให้กะบังลมยกขึ้น และด้วยแรงดันในช่องท้องที่เพิ่มมากขึ้น ทำผู้ป่วยต้องออกแรงมากขึ้นในการหายใจเพื่อขยายปอด
- การขจัดเสมหะในหลอดลมมีประสิทธิภาพลดลง รวมทั้งการใส่ท่อช่วยหายใจหรือการให้ออกซิเจนมีผลทำให้เสมหะแห้งขจัดออกได้ยาก
- การไอได้ไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากอาการปวดแผลและได้รับยาลดปวดบางชนิดซึ่งมีผลไปกดการทำงานปฏิกิริยารีเฟล็กซ์การไอ (Coughing reflex)
- การสร้างสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) ในถุงลมลดลง ซึ่งสารนี้เป็นสารที่ช่วยไม่ให้ถุงลมในปอดยุบตัวลง
- การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลงจากผลของยาสลบ เกิดภาวะท้องอืดทำให้แรงดันในช่องท้องมากขึ้นดันกะบังลมทำให้หายใจได้ยากขึ้น
อาการและอาการแสดงที่มักจะพบได้บ่อยหลังผ่าตัด
- มีเสมหะมาก
- การระบายอากาศทำได้ไม่ดี มีภาวะหอบเหนื่อย
- ร่างกายอ่อนล้า เหนื่อยง่าย ทำกิจวัตรประจำวันได้น้อย
- อาการเจ็บปวดแผล
การเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด
การเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญ การฝึกร่างกายให้พร้อมก่อนการผ่าตัดโดยเฉพาะเรื่องสมรรถภาพของปอดและหัวใจ เป็นการช่วยให้การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายหลังผ่าตัดได้เร็วและง่ายขึ้น การผ่าตัดก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว และความเครียด ดังนั้นการเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดทั้งร่างกายและจิตใจ จึงเป็นการลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้
การเตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดและการทำกายภาพบำบัดด้วยตนเองในผู้ป่วยหลังผ่าตัดนั้นเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ ดังนี้
- การเพิ่มการระบายอากาศโดยการฝึกหายใจ
- การพยุงแผลผ่าตัดในขณะไอหรือออกกำลังกาย
- การระบายเสมหะ
- การเพิ่มปริมาตรของปอด
- การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรง
- การออกกำลังกายเพิ่มความทนทาน
- การออกกำลังกายเพื่อคงสภาพการเคลื่อนไหวป้องกันข้อติด
ที่มา : กรอนงค์ ยืนยงชัยวัฒน์, จิตานันท์ เหล่าศิริไพศาล, นพวรรณ จารุสุสินธ์. (2551). ตำรากายภาพบำบัดในระบบหัวใจและระบบหายใจ Cardiopulmonary Physical Therapy. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
TH-8633