อาหารมีส่วนสำคัญในการรักษามะเร็ง การรับประทานอาหารที่เหมาะสมและถูกต้อง ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการรักษา จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีและแข็งแรง สามารถช่วยป้องกันผลกระทบที่เกิดจากผลข้างเคียงจากการรักษา ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งจึงต้องได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ เพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยฟื้นฟู เสริมสร้างกระบวนการสร้างเซลล์ที่ถูกทำลาย ให้กลับสู่สภาพเดิมได้โดยเร็ว และช่วยต่อสู้กับเชื้อโรคร้าย
ความต้องการสารอาหารของผู้ป่วยมะเร็ง สำคัญอย่างไร
เรียบเรียงโดย สุวรรณา สานุศิษย์
นักวิชาการโภชนาการ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ความต้องการสารอาหารของผู้ป่วยมะเร็ง มีอะไรบ้าง
ผู้ป่วยมะเร็งมักเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ ดังนั้นผู้ป่วยควรต้องได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ ได้แก่
พลังงาน อาหารหลักที่ให้พลังงาน คือ กลุ่มข้าวแป้งและไขมัน ถ้ามีการขาดรุนแรง เช่น ผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ต้องได้รับ 3000 – 4000 กิโลแคลอรีต่อวัน (ในขณะที่คนปกติควรได้รับ 1500 – 2000 กิโลแคลอรีต่อวัน) ควรเลือกอาหาร เช่น แป้ง น้ำตาล ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยเนื่องจากสภาวะโรค ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่ให้บ่อย ๆ 6-8 มื้อ และไม่ควรบริโภคอาหารที่มีไขมันมากเกินไป โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์
โปรตีน ควรได้รับ 80-100 กรัม/วัน โดยเฉพาะโปรตีนที่มีคุณภาพดี มีกรดอะมิโนจำเป็นครบ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ เพื่อช่วยการซ่อมแซม รักษาเนื้อเยื่อ และสร้างภูมิคุ้มกัน ควรเป็นอาหารอ่อนนุ่ม ย่อยง่าย
วิตามินและเกลือแร่ ควรบริโภคผักผลไม้ที่มีสี เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระ ได้วิตามินบีรวม วิตามิน A C D E และสังกะสีให้เพียงพอ ได้แก่ ผักต้ม ถั่วเหลือง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี เนื้อสัตว์ ฯลฯ
น้ำหรือของเหลว ควรได้รับวันละ 2-3 ลิตร เพื่อช่วยให้ไตกำจัดของเสียได้เร็ว ไม่สะสม
การกระจายพลังงานและสารอาหาร
คาร์โบไฮเดรต
– รับประทานข้าว -แป้ง ให้ได้รับสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต 50-55% หรือ ½ หนึ่งของพลังงานที่ร่างกายต้องการ
– ควรรับประทานข้าวแป้งเป็นอาหารหลักทั้ง 3 มื้อ
โปรตีน ควรหลีกเลี่ยง
– เนื้อสัตว์ไขมันสูง เนื้อสัตว์ติดมัน
– เนื้อสัตว์ผ่านการปิ้งย่างจนเกิดเขม่าควันหรือรอยไหม้
– เนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ
ไขมัน
– ควรได้รับไขมันวันละ 30% ของพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
– เลี่ยงอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันแฝง เช่น เบเกอรี่ ไอศกรีม เนื่องจากจะเสี่ยงต่อการได้รับพลังงานมากเกินไปทำให้เกิดโรคอ้วนและไขมันในเลือดสูง
ผักและผลไม้
– รับประทานผักได้ไม่จำกัด และ ควรทานหลากหลายสี
– ผลไม้ให้เลือกที่ไม่หวานจัดและมีเส้นใยสูง เช่น ฝรั่ง ชมพู่ ผลไม้ที่มีสีจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการเกิดมะเร็งได้
ผลดี ถ้าร่างกายได้รับสารอาหารเพียงพอกับความต้องการ
1.ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว
2.ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
3.ลดระยะเวลาในการรักษาตัวในโรงพยาบาล
4.ลดการใช้ยา
5.ลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น
6.ลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ
7.เพิ่มคุณภาพชีวิต
ผลเสีย ถ้าร่างกายเกิดภาวะทุพโภชนาการ
1.ขาดพลังงาน ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าปกติ หรือลักษณะแบบที่เรียกว่า หนังหุ้มกระดูก
2.ขาดโปรตีน ผิวหนังจะหลุดลอกเป็นแผล เช่น บริเวณก้น ขาหนีบ และ ต้นขา เส้นผมเปราะบาง หลุดง่าย อาการบวม เนื่องจากอัลบูมินต่ำ
อาการที่เกิดขึ้น เช่น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ภาวะซีด ภูมิต้านทานต่ำ
ดังนั้นการที่ผู้ป่วยได้รับสารอาหารเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จะช่วยให้ผู้ป่วยมีแรงต่อสู้กับโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ที่มา .ชนิดา ปโชติการและคณะ โภชนบำบัดทางการแพทย์ในผู้ป่วยมะเร็ง. วารสารสมาคมนักกำหนดอาหาร 2555.
TH-8632