การเจริญสติและมะเร็ง (Mindfulness and Cancer) 4.33/5 (3)

เรียบเรียงโดย นพ. ชวลิต ชยางศุ

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง โรงพยาบาลสุรินทร์

 

          เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ผู้ป่วยจะเกิดความรู้สึกเครียด กลัวและกังวลในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของชีวิต กลัวการเจ็บปวดจากตัวโรค กลัวเรื่องผลข้างเคียงของการรักษา กลัวการจากลากับคนที่รัก ความเครียดเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง กระบวนการคิดการตัดสินใจในการรักษาจะเปลี่ยนไปจากเดิม แพทย์ผู้ดูแลมักจะให้การรักษาภาวะเครียดกังวลเหล่านี้ด้วยยาแผนปัจจุบัน ซึ่งก็มีผลข้างเคียงตามมาไม่น้อย ได้แก่ ปากแห้งคอแห้ง ท้องผูก ปัสสาวะลำบาก หรือเวียนศีรษะ จึงเป็นข้อจำกัดของการใช้ยาในผู้ป่วยบางราย

การรักษาโดยไม่พึ่งยา (non-pharmacological treatment) จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจและมีอยู่หลายวิธี บทความนี้จะมาแนะนำวิธีที่ง่าย ประหยัด ฝึกทำได้เอง ได้ผลดีและมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ ได้แก่ การฝึกเจริญสติ หรือ mindfulness

การฝึกเจริญสติ คือ การฝึกให้มีภาวะตระหนักรู้ ตื่นรู้ เท่าทันความคิด เท่าทันอารมณ์ของตนตลอดเวลา และไม่ด่วนตัดสินผู้อื่น เมื่อฝึกเป็นประจำจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็ง ดังนี้

  1. ลดความเครียดวิตกกังวล ส่งเสริมให้สุขภาพกายและใจดีขึ้น
  2. ลดอาการเจ็บปวดจากมะเร็ง สามารถลดการใช้ยาบรรเทาปวดได้
  3. มีคุณภาพการนอนหลับดีขึ้น หลับยาวขึ้น ไม่ตื่นบ่อย
  4. อาจมีผลช่วยป้องกันมะเร็งได้ เนื่องจากไปเพิ่มระดับของสารเมลาโทนีนในร่างกาย และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน

 

ปัจจุบันมีเทคนิคการฝึกหลากหลาย เช่น การใช้โยคะ การใช้ภาพกราฟฟิก การฝึก body scan เป็นต้น แต่ที่แนะนำในบทความนี้ คือ การนั่งสมาธิ (sitting meditation) เนื่องจากทำได้ง่าย ไม่อาศัยอุปกรณ์ ทำได้ทุกสถานที่และไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วยมะเร็ง โดยมีขั้นตอนปฏิบัติ ดังนี้

  1. นั่งหลังตรง (sit tall) จะนั่งที่พื้นหรือบนเก้าอี้ก็ได้ แต่หลักสำคัญคือต้องให้รู้สึกสบาย จินตนาการให้ศีรษะ ไหล่ ลำตัวเป็นแนวเส้นตรงเดียวกัน ถ้านั่งแล้วไม่สบาย อาจเปลี่ยนท่าเป็นนอนเหยียดหลังตรงก็ได้
  2. ผ่อนคลาย (relax) ปิดตา และเพ่งความสนใจไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเริ่มไล่จากนิ้วเท้า เท้า เรื่อยมาจนถึงคอ ใบหน้า ตา และหน้าผาก
  3. นิ่ง (be still) ขั้นตอนนี้อาจลำบากที่สุด เพราะต่างไปจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่อยู่นิ่ง บางครั้งอาจมีความคิดต่าง ๆ โผล่เข้ามาเป็นระยะ ไม่ควรต่อต้าน ปล่อยให้เข้ามาและค่อย ๆ ปล่อยให้ออกไป ฝึกเป็นประจำจะดีขึ้น
  4. การหายใจ (breathe) หายใจให้ลึก ให้คงที่ และให้เงียบ กำหนดรู้ว่าหายใจเข้าและออกผ่านทางรูจมูก สังเกตอากาศที่ผ่านลงไปในลำคอ หน้าอก ท้อง ลงไปถึงเท้า แล้วกลับขึ้นมา
  5. การกำหนดคำ (repeat a mantra) เป็นเทคนิคเพื่อช่วยให้ไม่วอกแวก กับความคิดที่เข้ามา เช่นการกำหนดลมหายใจเข้า “พุท-“ ลมหายใจออก “-โธ” เป็นต้น

การฝึกนั่งสมาธิให้สำเร็จนั้น อย่าไปกังวลหรือยึดติดกับรูปแบบว่าต้องทำให้ถูกต้อง แต่ขอให้เริ่มทำทันทีและทำอย่างต่อเนื่อง ทำจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แล้วจะเกิดประโยชน์กับตัวคุณและคนรอบข้างอย่างแน่นอนครับ

เอกสารอ้างอิง

  1. Mehta R, Sharma K, Potters L, et al. (May 09, 2019) Evidence for the Role of Mindfulness inCancer:Benefits and Techniques. Cureus 11(5): e4629. DOI 10.7759/cureus.4629
  2. https://www.roswellpark.org/cancertalk/201702/meditation-cancer-patients
  3. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancer-in-general/treatment/complementary-alternative-therapies/individual-therapies/meditation

TH-8484

กรุณาให้คะแนน