ผู้ป่วยมะเร็งปอดในขั้นตอนการรักษาด้วยเคมีบำบัด การฉายรังสี การรับประทานยา การผ่าตัด และการพักฟื้นเป็นเวลานาน ๆ ขั้นตอนดังกล่าวมักส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีอาการอ่อนเพลียหรืออ่อนแรงลง การช่วยเคลื่อนไหวข้อต่อโดยผู้อื่นนอกจากเป็นการช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายมากขึ้น
เรียบเรียงโดย นิดา วงศ์สวัสดิ์
นักกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นหากไม่ช่วยเคลื่อนไหวข้อต่อแขนขาให้ผู้ป่วย
- ข้อต่อยึดติด
- กล้ามเนื้อเกร็งและหดรั้ง
- แผลกดทับ
- ปวดกล้ามเนื้อ
ท่าทางการช่วยเคลื่อนไหวข้อต่อโดยผู้อื่น
ท่าที่ 1 ยกสะบัก
ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย ผู้ช่วยเคลื่อนไหวข้อต่อมือจับที่ข้อมือ และอีกมือจับสะบักของผู้ป่วย จากนั้นยกสะบักผู้ป่วยขึ้นตรงๆ ให้ลอยพ้นจากพื้นเตียง
ท่าที่ 2 ยกแขน
ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย และผู้ช่วยในการเคลื่อนไหวข้อต่อจับที่ข้อมือรวมถึงฝ่ามือของผู้ป่วย และอีกมือประคองบริเวณข้อศอก
ยกแขนผู้ป่วยขึ้นตรงอย่างช้าๆ ยกแขนต่อให้สูงระดับหน้าผากของผู้ป่วย โดยฝ่ามือหมุนนิ้วโป้งชี้ไปด้านหลังของผู้ป่วย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของข้อไหล่
ท่าที่ 3 กางแขน
ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย และผู้ช่วยในการเคลื่อนไหวข้อต่อจับที่ข้อมือรวมถึงฝ่ามือของผู้ป่วย และอีกมือประคองบริเวณข้อศอก กางแขนผู้ป่วยออกด้านข้างประมาณ 90 องศา
ท่าที่ 4 ท่าหมุนข้อไหล่เข้าและออก
ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย และผู้ช่วยในการเคลื่อนไหวข้อต่อจับที่ข้อมือรวมถึงฝ่ามือของผู้ป่วย และอีกมือประคองบริเวณข้อศอก กางแขนผู้ป่วยออกด้านข้างประมาณ 45 องศา
หมุนแขนลงวางแนบไปกับลำตัว และหมุนแขนออกวางบริเวณแขนของผู้ช่วยเคลื่อนไหว
ท่าที่ 5 งอและเหยียดข้อศอก
ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย และผู้ช่วยในการเคลื่อนไหวข้อต่อจับที่ข้อมือรวมถึงฝ่ามือของผู้ป่วย และอีกมือประคองบริเวณข้อศอก จากนั้นงอและเหยียดข้อศอกในลักษณะฝ่ามือหงายขึ้น
ท่าที่ 6 คว่ำมือและหงายมือ
ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย และผู้ช่วยในการเคลื่อนไหวข้อต่อจับที่ข้อมือรวมถึงฝ่ามือของผู้ป่วย และอีกมือประคองบริเวณข้อศอก จากนั้นคว่ำมือและหงายมือของผู้ป่วย
ท่าที่ 7 กระดกข้อมือขึ้นและลง
ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย และผู้ช่วยในการเคลื่อนไหวข้อต่อจับประคองฝ่ามือรวมถึงนิ้วโป้งของผู้ป่วย และอีกมือประคองฝ่ามือรวมถึงนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อย จากนั้นกระดกข้อมือขึ้นและลง
ท่าที่ 8 กำมือและแบมือ
ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย และผู้ช่วยในการเคลื่อนไหวข้อต่อจับประคองฝ่ามือรวมถึงนิ้วโป้งของผู้ป่วย และอีกมือประคองฝ่ามือรวมถึงนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อย จากนั้นกำมือและแบมือ
ท่าที่ 9 งอและเหยียดขา
ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย และผู้ช่วยในการเคลื่อนไหวข้อต่อจับใต้ข้อพับเข่าของผู้ป่วย และอีกมือจับบริเวณใต้ส้นเท้า โดยให้ฝ่าเท้าของผู้ป่วยวางแนบกับแขนท่อนล่าง จากนั้นยกขาขึ้นงอและเหยียด
ท่าที่ 10 กางและหุบขา
ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย และผู้ช่วยในการเคลื่อนไหวข้อต่อจับใต้ข้อพับเข่าของผู้ป่วย และอีกมือจับบริเวณใต้ส้นเท้า โดยให้ฝ่าเท้าของผู้ป่วยวางแนบกับแขนท่อนล่าง จากนั้นกางขาประมาณ 45 องศาและหุบขาชิดขาอีกข้าง
ท่าที่ 11 กระดกข้อเท้าขึ้นและลง
ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย และผู้ช่วยในการเคลื่อนไหวข้อต่อจับข้อเท้าของผู้ป่วย และอีกมือจับบริเวณใต้ส้นเท้า โดยให้ฝ่าเท้าของผู้ป่วยวางแนบกับแขนท่อนล่าง จากนั้นใช้แขนท่อนล่างดันข้อเท้าให้กระดกขึ้นและกระดกลง
เอกสารอ้างอิง
การเคลื่อนไหวร่างกายด้วยวิธีทางกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะอ่อนแรงครึ่งซีกจากโรคหลอดเลือดสมอง; งานกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
TH-9898