การปรับสภาพบ้านให้เหมาะกับผู้ป่วย ที่ฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย 5/5 (2)

ผู้ป่วยมะเร็งปอดภายหลังจากการรับยา การให้เคมีบำบัด การผ่าตัด และการฉายแสง ผู้ป่วยมักจะมีอาการอ่อนเพลียและการนอนพักฟื้นเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลให้ผู้ป่วยอ่อนแรงลง ความคล่องตัวลดลง เคลื่อนย้ายตนเองได้ลำบาก และมีภาวะเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มได้ ผู้ป่วยมะเร็งปอดภายหลังจากการได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายที่โรงพยาบาลจนสามารถช่วยเหลือตนเองได้บางส่วน ทีมแพทย์จะให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นร่างกายต่อที่บ้าน ดังนั้น การปรับสภาพบ้านให้เหมาะสมและเอื้อต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ

เรียบเรียงโดย นิดา วงศ์สวัสดิ์

นักกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

การปรับพื้นที่พักอาศัยให้เหมาะสมเป็นการส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้อย่างความปลอดภัย ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยป้องกันการพลัดตกหกล้ม ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงด้านอื่นๆ เช่น กระดูกหัก ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

การปรับสภาพบ้านสำหรับผู้ป่วย

รูปที่ 1 แสดงสภาพห้องนอนที่เหมาะสม

ห้องนอน

ห้องนอนของผู้ป่วยควรอยู่ชั้นล่าง เพื่อลดความเสี่ยงพลัดตกหกล้มจากการขึ้นลงบันได และสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย ห้องนอนควรอยู่ในตำแหน่งที่สามารถถ่ายเทอากาศถ่ายเทได้ดี และมีแสงสว่างที่เพียงพอ เตียงของผู้ป่วยควรจัดหาให้พอดีกับความสูงของผู้ป่วย โดยวัดจากการที่ผู้ป่วยนั่งข้างเตียงแล้วสามารถวางขาราบกับพื้นได้แบบตั้งฉากพอดี เพื่อความปลอดภัยในขณะลุกขึ้นยืนเพื่อการเดินต่อไป ดังรูปที่ 1 และรูปที่ 2

รูปที่ 2 แสดงความสูงของเตียงที่เหมาะสม

ห้องน้ำ

มักเป็นห้องที่เกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มมากที่สุด พื้นห้องน้ำจึงควรเป็นพื้นระดับเดียวกัน ไม่มีธรณีประตูหรือพื้นต่างระดับ โดยออกแบบแบ่งส่วนเปียกไว้ด้านในและส่วนแห้งใกล้ประตู เพื่อป้องกันปัญหาน้ำซึมออกมานอกห้อง แต่ถ้าบ้านมีธรณีประตูหรือพื้นต่างระดับในบริเวณนั้นๆ ควรทำราวจับเพื่อช่วยพยุงตัวในขณะก้าวเดินในพื้นต่างระดับ หากผู้ป่วยใช้อุปกรณ์ไม้เท้าช่วยเดิน พื้นผิวที่ต่างระดับจะต้องกว้างเพียงพอสำหรับการวางอุปกรณ์ไม้เท้าช่วยเดินได้อย่างมั่นคง และวัสดุปูพื้นต้องไม่ลื่นและราบเรียบเพื่อป้องกันการสะดุดล้ม

รูปที่ 3 แสดงทางต่างระดับที่สามารถวางอุปกรณ์ไม้เท้าช่วยเดินได้อย่างมั่นคง

ห้องน้ำควรติดตั้งแสงสว่างให้เพียงพอต่อการมองเห็น ควรใช้โถนั่งหรือชักโครกและมีที่เก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำ กรณีที่ผู้ป่วยลุกยืนขณะนั่งชักโครกหรือเก้าอี้อาบได้ไม่ปลอดภัย ควรมีราวจับติดผนังบริเวณชักโครกเพื่อใช้พยุงตัวขณะลุกยืนลดความเสี่ยงในการล้ม

รูปที่ 4 แสดงสภาพห้องน้ำที่เหมาะสม
รูปที่ 5 เก้าอี้สำหรับอาบน้ำ

บันได

กรณีที่ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องเดินผ่านบริเวณบันได ซึ่งไม่สามารถวางอุปกรณ์ไม้เท้าช่วยเดินได้อย่างมั่นคง จำเป็นต้องติดตั้งราวจับด้านใดด้านหนึ่งของบันได เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถจับราวบันไดเพื่อเดินขึ้นลงได้

ราวจับ

ราวจับควรทำด้วยวัสดุผิวเรียบจะเป็นสแตนเลสหรืออะลูมิเนียมก็ได้ เน้นที่แข็งแรงและทำความสะอาดง่าย มีลักษณะทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 – 4 เซนติเมตร โดยควรติดตั้งห่างจากผนัง 4 – 5 เซนติเมตร และติดตั้งสูงจากพื้น80 – 90 เซนติเมตร หรือสามารถวัดความสูงของราวจับได้จากเมื่อผู้ป่วยยืนจับราวแล้วข้อศอกควรงอเล็กน้อยและตำแหน่งมือจับอยู่ในระดับเดียวกับสะโพก

การปรับสภาพบ้านสำหรับรถเข็น

ผู้ป่วยมะเร็งปอดในบางรายในช่วงของการพักฟื้นที่บ้านมีความจำเป็นต้องใช้รถเข็น การเตรียมสภาพบ้านจะมีความแตกต่างจากบ้านของผู้ป่วยที่เดินได้ด้วยตนเองและใช้อุปกรณ์ไม้เท้าช่วยเดินในเรื่องของทางต่างระดับและบันได โดยหากบ้านมีทางต่างระดับและบันไดจำเป็นต้องปรับเป็นทางลาด ซึ่งมุมความลาดชั้นของทางลาดไม่ควรเกิน 30 องศา ในบ้างบ้านที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดอาจใช้เป็นทางลาดแบบไม่ถาวร ซึ่งสามารถนำมาวางเป็นทางลาดเฉพาะเวลาที่ต้องการให้รถเข็นผ่านเท่านั้นได้

รูปที่ 6 แสดงทางลาดและมุมความชันของทางลาด

TH-9896

กรุณาให้คะแนน