การรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยยาเคมีบำบัด 5/5 (12)

การรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือที่เรียกกันว่า “เคโม” หรือ “คีโม”  เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็ว โดยเฉพาะเซลล์มะเร็ง แต่ก็มีผลต่อเซลล์ปกติของร่างกายที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน อย่างเช่น เส้นผม เซลล์เยื่อบุผิว และเซลล์เม็ดเลือด โดยทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่าง ๆ ได้แก่ ผมร่วง ท้องเสีย และเม็ดเลือดต่ำกว่าปกติได้ อาจทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นต้น

การรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด

เรียบเรียงโดย พญ.ปิยะดา สิทธิเดชไพบูลย์
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

การรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ทำได้อย่างไร

แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนายาเคมีบำบัดกลุ่มใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีมากขึ้น และมีผลข้างเคียงลดน้อยลงกว่ายาเคมีบำบัดกลุ่มเดิม รวมทั้งยังมียาที่ช่วยป้องกันและรักษาอาการข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียน และยาที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาว ซึ่งทำให้การใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาได้ผลดีกว่าเดิม และมีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้

ยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษามะเร็งปอด

ยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งปอดมีด้วยกันหลายชนิด มีทั้งแบบให้ยาหลายตัวร่วมกัน หรือแบบให้ยาตัวเดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค อายุของผู้ป่วย และสภาพความพร้อมของผู้ป่วย โดยจะเป็นในรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำ หรือทางสายน้ำเกลือ ซึ่งการให้ยาเคมีบำบัดกับผู้ป่วยนั้น จะให้การรักษาเป็นรอบ โดยแต่ละรอบของการรักษา มักจะห่างกันประมาณ 3 สัปดาห์  

ประโยชน์ของยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาในมะเร็งปอด ได้แก่

  • ใช้เป็นการรักษาเสริมตามหลังการผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสให้โรคหายขาดมากขึ้น หรืออาจใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง ทำให้สามารถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
  • ใช้ร่วมกับรังสีรักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่โรคอยู่ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
  • ใช้เป็นการรักษาหลักในระยะที่โรคมีการแพร่กระจาย

ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด

ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด ส่วนใหญ่สามารถให้การป้องกัน หรือให้การรักษาได้ เพื่อลดความรุนแรงของผลข้างเคียงลงได้ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้ และผลข้างเคียงเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และหายไปเมื่อให้การรักษาจนครบ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีผลข้างเคียงรุนแรงจนไม่สามารถให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดต่อไปได้

ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัดที่พบบ่อย ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียน พบได้บ่อย ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัดที่ได้รับ อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังได้รับยา และอาจเกิดได้นานถึง 3-7 วัน ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะมีการใช้ยาป้องกันอาการอาเจียนก่อนการให้ยาเคมีบำบัดในแต่ละรอบ ซึ่งได้ผลดีและสามารถให้การป้องกันอาการอาเจียนได้ในผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่
  • อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เป็นได้ในช่วงสัปดาห์แรกของการให้ยาเคมีบำบัดในแต่ละรอบ เนื่องจากยาเคมีบำบัดมีผลทำให้การรับรสอาหารเปลี่ยนแปลง ความอยากรับประทานอาหารลดลง รวมทั้งตัวโรคมะเร็งเอง ก็ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียพลังงาน การรับประทานอาหารให้มีพลังงานที่เพียงพอและครบถ้วน โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนทั้งจากพืชและเนื้อสัตว์ โดยทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว พักผ่อนหรือนอนหลับให้มากขึ้น รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก หรือออกกำลังที่หักโหมจนเกินไป สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงนี้ได้
  • เม็ดเลือดขาวต่ำทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำและติดเชื้อง่ายขึ้น เกิดจากยาเคมีบำบัดมีผลต่อการทำงานของไขกระดูก ทำให้มีการสร้างเม็ดเลือดต่าง ๆ ลดลง โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวที่ลดลง (เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรค) จะทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยเฉพาะ 10-14 วันหลังได้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองเพื่อมิให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ได้แก่ ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร  และหลังจากเข้าห้องน้ำแล้ว, ดูแลสุขภาพอนามัยในช่องปาก ไม่ให้เกิดแผลในปาก, หลีกเลี่ยงการพบปะหรือสัมผัสผู้อื่นที่เป็นหวัด  มีไข้ หรือติดเชื้อ และสถานที่แออัด เป็นต้น และปัจจุบันมียาที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาว เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มาก
  • ผมร่วง เกิดจากยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดเพียงบางชนิดเท่านั้น โดยมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับยาเคมีบำบัดครั้งแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์  โดยจะร่วงมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดของยาเคมีบำบัด แต่อาการนี้จะเป็นชั่วคราวในช่วงที่รักษาด้วยยาเคมีบำบัดเท่านั้น และผมจะงอกใหม่หลังจากได้รับยาเคมีบำบัดครั้งสุดท้ายประมาณ 3-4 เดือน 

ลดผลข้างเคียงของ การรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยยาเคมีบำบัด

ผลข้างเคียงของ การรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยยาเคมีบำบัด อาจจะมีอยู่หลายอย่าง รวมถึงหากใช้วิธีการรักษาบางวิธีร่วมกันไปด้วย หรืออาจจะใช้วิธีการปรับเมนูอาหาร ก็อาจจะช่วยลดผลข้างเคียงของการทำเคมีบำบัดได้

TH-8627

กรุณาให้คะแนน