การระบายเสมหะในผู้ป่วยมะเร็งปอด 4.33/5 (6)

          “เสมหะ” เป็นของเสียที่ร่างกายของเราต้องการขับออก เสมหะเกิดจากกลไกการป้องกันตนเองของมนุษย์ในการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรค การขับเสมหะให้ได้มีประสิทธิภาพมีหลายปัจจัยเป็นตัวช่วย ได้แก่ การปรับแรงดันในปอด เซลล์มีขนที่ถุงลมที่คอยโบกเพื่อเคลื่อนเสมหะให้มาอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมจะขับออก และสารลดแรงตึงผิวในถุงลมที่ช่วยทำให้ถุงลมไม่ยุบตัว 

เรียบเรียงโดย นิดา วงศ์สวัสดิ์

นักกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

          สำหรับในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดทำให้ปัจจัยดังที่ได้กล่าวมาทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ การขับเสมหะในผู้ป่วยจึงทำได้ยาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนี้

  1. เสมหะไปอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ไม่สามารถหายใจได้อาจทำให้เสียชีวิตได้
  2. มีเสมหะคั่งค้างในปอดเกิดการติดเชื้อในปอดและเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้
  3. ร่างกายแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้น้อยลงเกิดผลเสียต่อทุกระบบการทำงานของร่างกาย
  4. เหนื่อยง่าย ทำกิจวัตรประจำวันได้น้อย กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรงลง และเข้าสู่ภาวะติดเตียงในที่สุด

ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมักจะมีประสิทธิภาพของการไอ และการขยายตัวของปอดและทรวงอกลดลง และในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด อาการปวดแผลผ่าตัดและผลของยาสลบมีส่วนทำให้การระบายเสมหะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ร่วมกับผู้ป่วยต้องนอนบนเตียงเป็นเวลานาน ทำให้เกิดเสมหะคั่งค้างได้ และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

การไอ (cough)

          การไอเป็นการระบายเสมหะที่ทุก ๆ คนคุ้นเคย การเจ็บปวดและปัจจัยอื่น ๆ หลังจากผ่าตัดทำให้ผู้ป่วยไอได้ไม่ถูกวิธี ส่งผลให้การขับเสมหะนั้นไม่มีประสิทธิภาพ การไอจึงเป็นอีกเทคนิคที่ต้องได้รับการฝึกฝนตั้งแต่ก่อนผ่าตัด การไอมีขั้นตอน ดังนี้

  1. หายใจเข้าลึก ๆ  
  2. กลั้นลมหายใจออกนับ 1-3 สร้างแรงดันบวกในปอด
  3. อ้าปากแล้วไอออกมา เป็นการเปิดสายเสียงทันทีในขณะกลั้นลมหายใจออกอยู่ และในขณะที่ไอผู้ป่วยสามารถนำหมอนมากอดประคองบริเวณแผลผ่าตัด เพื่อลดอาการเจ็บปวดได้

รูปที่ 1 การใช้หมอนประคองแผลขณะไอลดอาการปวด
รูปที่ 1 การใช้หมอนประคองแผลขณะไอลดอาการปวด

          หากมีอาการหน้ามืดหรือเวียนศีรษะให้หยุดการฝึก เนื่องจากการไอมีแรงดันในช่องอกและช่องท้อง จึงห้ามใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดโป่งพองในช่องอกหรือช่องท้อง ไอเป็นเลือด และผู้ที่มีความดันในสมองสูง

ไอแบบที่ ไอออกมาให้แรงที่สุดในครั้งเดียวให้หมดลมในปอด วิธีนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ทำให้แผลผ่าตัด  กระเทือนมาก ซึ่งทำให้เจ็บแผลมาก

ไอแบบที่ แบ่งลมหายใจออกทั้งหมดเป็น 3-4 คำย่อย ทำให้กระเทือนแผลน้อยกว่าและเจ็บน้อยกว่า แม้ประสิทธิภาพ  ด้อยกว่า แต่เพียงพอสำหรับเสมหะที่ไม่แห้งเหนียวมาก

ไอแบบที่ แบ่งเป็นคำเล็ก ๆ สั้นๆ หลาย ๆ ครั้งต่อเนื่องกัน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ค่อยมีแรงมาก

การฝึกการไอด้วยวิธี Huff Cough

         การ Huff เป็นเทคนิคการหายใจออกอย่างแรงโดยที่ไม่มีการปิดของฝาปิดกล่องเสียง การ Huff มีขั้นตอน ดังนี้

  1. หายใจเข้าลึก ๆ
  2. กลั้นลมหายใจออกนับ 1-3 สร้างแรงดันบวกในปอด
  3. พ่นลมออกทางปาก ทำเสียงฮ่าแบบไม่มีเสียงออกมา การหายใจเข้าลึก ๆก่อนทำ Huff มีผลต่อการขับเสมหะบริเวณหลอดลมแขนงใหญ่ ในขณะหายใจออก มีผลต่อการขับเสมหะบริเวณหลอดลมแขนงเล็กลงมา

ที่มา

ทนันชัย บุญบูร/(2561)/รู้ไหม ก่อนผ่าตัดควรฝึกหายใจก่อนนะ/สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563/จากเว็บไซต์ https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/

กรอนงค์ ยืนยงชัยวัฒน์, จิตานันท์ เหล่าศิริไพศาล, นพวรรณ จารุสุสินธ์ (2551). ตำรากายภาพบำบัดในระบบหัวใจและระบบหายใจ Cardiopulmonary Physical Therapy. กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

TH-8625

 

กรุณาให้คะแนน