การแบ่งระยะของโรคมะเร็งปอด (Lung cancer Staging) การกำหนดระยะของโรคมะเร็งปอดอย่างถูกต้องแม่นยำ จะช่วยทำให้แพทย์สามารถกำหนดวัตถุประสงค์ของการรักษาและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม พร้อมทั้งยังช่วยบอกการพยากรณ์โรคอีกด้วยซึ่งจะส่งผลต่อการหายของโรคหรือการมีชีวิตที่ยืนยาวหรือดำรงชีวิตได้ดีขึ้น
เรียบเรียงโดย นพ.ภานุณัฏฐ์ ม่วงน้อย
อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็ง
โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
การแบ่งระยะของโรคมะเร็งปอด (Lung cancer Staging)
มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก: Small cell lung cancer (SCLC)
ระยะของมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก แบ่งระยะของโรคออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
- ระยะจำกัดของขนาดมะเร็ง (Limited stage) เป็นระยะที่มะเร็งจะอยู่ในบริเวณปอดเท่านั้น หมายถึง การที่โรคมะเร็งปอดนั้นอยู่ภายในทรวงอกด้านนั้นด้านเดียว (Ipsilateral hemithorax) ซึ่งสามารถให้การรักษาได้ด้วยการฉายรังสีเฉพาะทรวงอกด้านนั้น ซึ่งมะเร็งในระยะนี้ เทียบได้กับระยะเริ่มต้นนี้ (Early Cancer) วัตถุประสงค์ของการรักษา คือ หายขาด (Cure)
- ระยะการแพร่กระจาย (Extensive stage) เป็นระยะที่มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย หมายถึง การที่โรคมะเร็งปอดนั้นได้กระจายออกนอกทรวงอกด้านนั้น จากอาการ อาการแสดงหรือภาพรังสีต่าง ๆ ซึ่งมะเร็งในระยะนี้เทียบได้กับระยะแพร่กระจาย (Advanced Cancer)
วัตถุประสงค์ของการรักษา คือ ประคับประคอง (Palliative) เพื่อเพิ่มระยะการอยู่รอด เพิ่มคุณภาพชีวิตและควบคุมอาการของโรค
มะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์เล็ก: Non-small cell lung cancer (NSCLC)
การบอกระยะของโรคมะเร็งปอดเแพทย์ใช้ระบบ TNM staging ในการแยกผู้ป่วยออกเป็นระยะต่าง ๆ โดยที่ระบบนี้อาศัยข้อมูลจาก ขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็งตั้งต้น (T 0-4 = tumor), ใช้จำนวนและตำแหน่งของต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณเดียวกับก้อนมะเร็ง (N 0-3 = regional nodes) และใช้การกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น (M 0-1= metastasis)
Stage 0 :
มะเร็งพบในหลอดลมแต่ไม่กินลึกลงไปในปอด อยู่เฉพาะที่ไม่กระจายไปที่ใด
Stage I :
มะเร็งจำกัดอยู่ในปอด ยังไม่กระจายแพร่ออกไป ก้อนมะเร็งจะโตเท่าไรก็ได้
Stage II :
มะเร็งแพร่กระจายไปในต่อมน้ำเหลืองในปอดข้างเดียวกันแล้ว
Stage IIIA :
มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองรอบ ๆ หลอดลม อาจลามไปถึงทรวงอก และกระบังลมข้างเดียวกัน
Stage IIIB :
มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ปอดด้านตรงข้ามและที่คอ
Stage IV :
มะเร็งแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นในร่างกายแล้ว
เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ในเบื้องต้นแพทย์จะสามารถแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น (Early Cancer) คือ เป็นระยะที่ยังไม่พบว่าโรคมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นใด (M0) กล่าวคือ อาจพบเพียงเฉพาะก้อนมะเร็งตั้งต้นเท่านั้น (Local Cancer) หรืออาจพบทั้งก้อนมะเร็งตั้งต้นและต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้น ๆ ด้วย (Locoregional Cancer) ซึ่งมะเร็งในระยะเริ่มต้นนี้ วัตถุประสงค์ของการรักษา คือ หายขาด (Cure)
- ผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจาย (Advanced Cancer) คือ เป็นมะเร็งที่พบหลักฐานการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายแล้ว (M1) เช่น ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่พบว่ามีการกระจายของโรคไปยังกระดูก เป็นต้น ผู้ป่วยในระยะนี้วัตถุประสงค์ของการรักษา คือ ประคับประคอง (Palliative) เพื่อเพิ่มระยะการอยู่รอด เพิ่มคุณภาพชีวิตและควบคุมอาการของโรค
นอกจากนี้การแบ่งระยะนี้ทำให้สามารถบอกการพยากรณ์และอัตราตายของโรคได้ เช่น อัตราตายของผู้ป่วยที่ 5 ปี อยู่ในช่วง 61% ในผู้ป่วยที่อยู่ในระยะที่ 1A และ 1% ในผู้ป่วยที่อยู่ ในระยะที่ 4 เป็นต้น
โรคมะเร็งปอด เป็นโรคที่น่ากลัวเมื่อเปรียบเทียบมะเร็งชนิดอื่น ๆ จากข้อมูลล่าสุดในปี 2018 ประมาณการณ์ว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งปอดใหม่ 2.1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตถึง 1.7 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่ประมาณปีละ 24,000 คน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าเก่า ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งแทนมะเร็งตับและท่อน้ำดี และผู้ป่วยก็มักจะมาในช่วงระยะแพร่กระจาย จึงมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับสอง แบบเฉือนกับอันดับหนึ่งอย่างมะเร็งตับเพียงนิดเดียว
ทั้งนี้ในประเทศไทยมะเร็งปอดพบเป็นอันดับที่ 2 ในเพศชาย รองจากมะเร็งสำไส้ และพบได้เป็นอันดับที่ 4 ในเพศหญิงรองจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ ตามลำดับ โดยมีผู้ป่วย 2 ใน 3 ที่มักเป็นในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งปัจจัยที่พบว่ามีผลต่ออัตราการรอดชีวิต (prognostic factor) ได้แก่ สภาพร่างกายของผู้ป่วย, อัตราการลดลงของน้ำหนักตัว และระยะของโรคที่พบ
TH-8487