อาการไม่พึงประสงค์จากยามุ่งเป้า แม้ว่ายามุ่งเป้าจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ ทำให้มีผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติน้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มนี้ได้
เรียบเรียงโดย แพทย์หญิงปิยะดา สิทธิเดชไพบูลย์
ผลข้างเคียงจากยามุ่งเป้าที่พบบ่อย ได้แก่
ผลข้างเคียงทางผิวหนัง ได้แก่ ผื่นแดง ผื่นคล้ายสิว, ผิวแห้ง, คัน, ขอบเล็บอักเสบ
เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย จะพบเป็นผื่นแดง หรือผื่นคล้ายสิว พบมากบริเวณที่ถูกแสงแดด อาจมีผิวแห้งและคันร่วมด้วย และอาจมีผิวหนังขอบเล็บ บวม แดง และปวด หรือติดเชื้อ มักพบภายใน 6 สัปดาห์แรกหลังการใช้ยามุ่งเป้า ยกเว้นขอบเล็บอักเสบ อาจพบในช่วงภายหลังการใช้ยามุ่งเป้า เป็นเวลาหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนได้ โดยจะมีอาการตั้งแต่น้อย ปานกลาง และรุนแรง ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย เป็นผลข้างเคียงของยา ไม่ใช่อาการแพ้ยา ดังนั้นไม่จำเป็นต้องหยุดยาเอง ยกเว้นมีอาการรุนแรงและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลแล้วเท่านั้น
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัด โดยเฉพาะเวลา 00-16.00 น. และควรทาครีมกันแดดที่ป้องกันทั้ง UVA และ UVB และมีค่าป้องกันแสง (SPF) อย่างน้อย 15
- สวมหมวก และแว่นตากันแดด เพื่อป้องกันแสงแดดบริเวณศีรษะและใบหน้า
- ไม่ควรอาบน้ำที่ร้อนเกินไป เลือกใช้สบู่ที่มีน้ำมันหรือไขมันเป็นส่วนผสม
- ทาครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวชนิดที่มีสารก่อภูมิแพ้น้อย และไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ใบหน้าและลำตัว หลังอาบน้ำ
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าบางชนิด เช่น ผ้าขนสัตว์ ผ้าใยสังเคราะห์ เพราะทำให้เกิดการระคายเคือง หรือคันได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงการดึงผิวหนังรอบเล็บ การกัดเล็บ
- ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ แต่ไม่ควรตัดสั้นจนเกินไป และตัดตรง ไม่โค้ง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ผงซักฟอก หากต้องสวมใส่ถุงมือสังเคราะห์ ควรสวมถุงมือชนิดผ้าไว้ด้านใน
- รักษาให้มือและเท้าแห้งอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการแช่น้ำเวลานาน
- ปรึกษาแพทย์ หากมีอาการรุนแรง รบกวนชีวิตประจำวัน หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาและใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำแล้ว
ท้องเสีย
เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย ซึ่งอาจมีอาการรุนแรง ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่รุนแรงได้ มักพบภายใน 2 สัปดาห์แรกหลังการใช้ยามุ่งเป้า
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- รับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งเช่น 5-6 มื้อต่อวัน
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีเกลือแร่สูง เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่ กล้วย ส้ม เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการท้องเสีย
- รับประทานอาหารอ่อนและย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม ซุป ก๋วยเตี๋ยว กล้วย ขนมปัง
- หลีกเลี่ยงนม หรือผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของช็อกโกแลต
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกากใยสูง และอาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส หรืออาการมวนท้อง เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ถั่ว ธัญพืช หัวหอม
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด สุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารค้างคืน
- ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร
- ปรึกษาแพทย์ทันที หากท่านถ่ายเหลวนานกว่า 24 ชั่วโมง หรือถ่ายเป็นมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ร่วมด้วย
เยื่อบุปากอักเสบ
จะพบมีการอักเสบของเยื่อบุภายในช่องปาก เช่น เป็นแผลเจ็บ อาจพบเลือดออก บริเวณเหงือก, ลิ้น, ริมฝีปากหรือเพดานปาก มักพบภายใน 2-4 สัปดาห์แรกหลังการใช้ยามุ่งเป้า
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- ตรวจสุขภาพช่องปากและฟันก่อนเริ่มการรักษา ถ้าทำได้
- แปรงฟันเบา ๆ ด้วยขนแปรงที่อ่อนนุ่ม
- กลั้วปากและลำคอ โดยใช้น้ำเกลืออุ่น ๆ หลังรับประทานอาหารทุกมื้อและก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีลักษณะแข็ง หรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด และอาหารร้อนจัด
- หลีกเลี่ยงน้ำผลไม้ที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุปากได้ง่าย
- ถ้าเริ่มมีอาการเยื่อบุปากอักเสบ ควรรับประทานอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม ซุป ไข่ตุ๋น โยเกิร์ต เยลลี่ สังขยา ไอศกรีม
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ หรือจิบน้ำบ่อย ๆ ใช้วาสลีน หรือลิปสติกมัน ทาริมฝีปากให้ชุ่มชื่นอยู่เสมอ
- ปรึกษาแพทย์ หากมีอาการรุนแรง รบกวนชีวิตประจำวัน หรืออาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษาและใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำแล้ว
อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
เป็นผลข้างเคียงจากยาได้ หรืออาจเกิดจากตัวโรคมะเร็งเอง
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนทั้งจากพืชและเนื้อสัตว์ โดยทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
- เปลี่ยนบรรยากาศในการรับประทานอาหาร หรือเปลี่ยนเมนูใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้มากขึ้น
ความผิดปกติทางตา ได้แก่ เคืองตา ตาแห้ง ตาอักเสบ น้ำตาไหลผิดปกติ
เป็นผลข้างเคียงจากยาได้ แต่พบน้อย เนื่องจากตัวรับ EGFR สามารถพบได้ที่เนื้อเยื่อตา ได้แก่ เปลือกตา ขนตา ต่อมน้ำตา เยื่อบุตา และกระจกตา การใช้ยามุ่งเป้าต่อ EGFR จึงอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติทางตาดังกล่าวได้ แต่มักมีอาการไม่รุนแรง แต่ในบางราย อาจเกิดอาการรุนแรงได้ เช่น การมองเห็นผิดปกติ กระจกตาเป็นแผลจากตาแห้งมาก หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
การทำงานของตับผิดปกติ
เป็นผลข้างเคียงจากยาได้ แต่พบน้อย โดยปกติแพทย์ผู้รักษาจะมีการตรวจเลือดเพื่อติดตามการทำงานของตับอยู่เป็นระยะ ในขณะที่รักษาด้วยยามุ่งเป้าชนิดนี้ และจะพิจารณาหยุดยาหรือปรับลดขนาดยาตามความเหมาะสม แต่อาจพบมีการทำงานของตับผิดปกติที่รุนแรงได้ เมื่อมีการรับประทานยาชนิดอื่นที่มีผลต่อการทำงานของตับ หรือใช้ยาสมุนไพรร่วมด้วย
ข้อควรปฏิบัติและวิธีการดูแลตนเอง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาชนิดอื่น ซื้อยารับประทานเอง หรือใช้ยาสมุนไพร ในขณะที่รับประทานยามุ่งเป้า และปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทุกครั้ง หากจำเป็นต้องใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วย
- ปรึกษาแพทย์ทันที หากมีอาการผิดปกติ ได้แก่ ตัวตาเหลือง ปวดบริเวณช่องท้องด้านบนซีกขวา มีจ้ำเลือดหรือเลือดออกง่ายผิดปกติ อ่อนเพลียผิดปกติ เป็นต้น
ปอดอักเสบ
เป็นผลข้างเคียงจากยาได้ แต่พบน้อย หรืออาจเกิดจากตัวโรคมะเร็ง หรือปอดอักเสบจากการติดเชื้อ ซึ่งต้องรีบให้การวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาให้ทันท่วงที ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ทันที หากมีอาการทางระบบหายใจผิดปกติ ได้แก่ หอบเหนื่อย ไอผิดปกติ หรือมีไข้ร่วมด้วย
การดูแลตนเองเพื่อลด อาการไม่พึงประสงค์จากยามุ่งเป้า
อาการไม่พึงประสงค์จากยามุ่งเป้า อาจจะมีอยู่หลายอาการ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนก็มักจะมีอาการที่แสดงออกมาแตกต่างกัน หากดูแลตนเองตามแนวทางที่ได้กล่าวไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน
TH-11491