เป้าหมายการรักษามะเร็งระยะสามที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ และระยะลุกลาม (ระยะที่สี่) คือการเพิ่มระยะรอดชีพ และคุณภาพชีวิต ด้วยยาที่ออกฤทธิ์เชิงระบบ (systemic therapy) อธิบายเพิ่มเติม คือ ยาในเลือดออกฤทธิ์ฆ่าและยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งทั้งที่ตำแหน่งแรกเริ่มและตำแหน่งที่มะเร็งแพร่กระจายไป ทำให้อาการจากมะเร็งลดลง ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และระยะรอดชีพยาวขึ้น อย่างไรก็ตามยาออกฤทธิ์เชิงระบบล้วนมีผลข้างเคียง ซึ่งรบกวนคุณภาพชีวิต และอาจจำกัดการใช้ยาดังกล่าว ความรู้เรื่องผลข้างเคียงของยาเชิงระบบ และการดูแลตนเองขณะได้รับยาจึงมีความสำคัญกับผู้ป่วยและครอบครัว
เรียบเรียงโดย นพ.กิตติพงษ์ อุดมดำรงกุล พ.บ.
- การทำงานต้านมะเร็งของยาภูมิคุ้มกันบำบัด
ยาเคมีบำบัดใช้รักษามะเร็งมากว่า 80 ปี ออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่กำลังแบ่งตัว ทำให้ลดขนาดและคุมการโตของก้อนมะเร็ง แต่เนื่องจากไม่มีความจำเพาะกับเซลล์มะเร็ง ยาเคมีบำบัดจึงยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์ปกติที่แบ่งตัวเร็ว เช่น ผม เยื่อบุช่องปาก และไขกระดูก เป็นต้น ทำให้ยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงสูง เช่น ผมร่วง แผลในปาก และติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
วิวัฒนาการของภูมิคุ้มกันวิทยาพบว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวของเราฆ่าเซลล์มะเร็งได้ โดยมะเร็งมีโปรตีนผิวเซลล์ (tumor antigen; Δ) ทำให้เม็ดเลือดขาวเข้าจับ (Y) และทำลายได้
อย่างไรก็ตามมะเร็งมีโปรตีนผิวเซลล์อีกชนิดชื่อ PD-L1 (⇐) มาจับกับตัวรับบนเซลล์เม็ดเลือดขาวชื่อ PD-1 ( ⇒ ) เป็นการยับยั้งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวไม่ให้มากเกินไป
แต่อีกนัยหนึ่งก็ทำให้ภูมิร่างกายเราฆ่าเซลล์มะเร็งไม่มีประสิทธิภาพ ยาภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นสารภูมิต้านทานสกัดเข้าจับที่ PD-1 ของเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือ PD-L1 ของเซลล์มะเร็ง ช่วยหยุดกลไกยับยั้ง หรืออีกนัยหนึ่งคือยาช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานฆ่าเซลล์มะเร็งดีขึ้น
- ผลข้างเคียงของยาภูมิคุ้มกันบำบัด
ยาภูมิคุ้มกันบำบัดหยุดขบวนการยับยั้งการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวในการฆ่าเซลล์มะเร็ง หรือทำให้เม็ดเลือดขาวของเราทำงานดีขึ้น ผลข้างเคียงแบบเดิม ๆ อย่างยาเคมีบำบัด เช่น ผมร่วง หรือติดเชื้อง่ายจึงไม่มี แต่เป็นผลข้างเคียงจากการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากเกินไป เช่น อาการอ่อนเพลีย ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ลำไส้อักเสบ ผิวหนังอักเสบ เป็นต้น โดยสามารถเกิดเมื่อไหร่ก็ได้หลังเริ่มยา หรือแม้กระทั่งหยุดยาไปแล้ว ส่วนใหญ่พบผลข้างเคียงช่วง 2-3 เดือนแรกหลังเริ่มยา สามารถแบ่งอาการข้างเคียงจากยาภูมิคุ้มกันบำบัดตามความชุกเป็น 2 กลุ่ม1 คือ
กลุ่มพบบ่อย (มากกว่าร้อยละ 10 ของผู้รับยา) ได้แก่ ผิวหนังอักเสบ และลำไส้อักเสบ
กลุ่มพบไม่บ่อย (น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้รับยา) ได้แก่ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ไทรอยด์อักเสบ เป็นต้น
- อาการเตือนชวนสงสัยผลข้างเคียงจากยาภูมิคุ้มกันบำบัด
การอักเสบจากภาวะที่เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานมากผิดปกติเกิดได้กับทุกอวัยวะในร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยที่กำลังรับยาภูมิคุ้มกันบำบัดต้องสังเกตุอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่
1) อาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง จากภาวะต่อมใต้สมองอักเสบ ไทรอยด์อักเสบ และต่อมหมวกไตอักเสบ
2) ไอ หรือเหนื่อย จากภาวะปอดอักเสบ
3) ปวดท้อง คลื่นไส้ หรืออาเจียน จากตับอักเสบ
4) ท้องเสีย จากลำไส้อักเสบ
5) อาการคันหรือผื่นผิวหนัง จากผิวหนังอักเสบ
- การปฏิบัติตัวเมื่อสงสัยผลข้างเคียงจากยาภูมิคุ้มกันบำบัด
ยาภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นยาใหม่ และแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปไม่คุ้นเคย ดังนั้นผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยที่กำลังรับยาภูมิคุ้มกันบำบัดควรศึกษาทำความเข้าใจรายละเอียดยาข้างต้น เฝ้าสังเกตอาการและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกาย ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากสงสัยผลข้างเคียงจากยาผ่านช่องทางของแต่ละโรงพยาบาล เพื่อให้ประสิทธิภาพของการรักษาสูงสุด ผู้ป่วยมีความมั่นใจขณะใช้ยา และสามารถจัดการกับอาการจากผลข้างเคียงทางยาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที โดยสรุปเป็นข้อควรปฏิบัติขณะให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ดังนี้
1) ก่อนการเริ่มยา
1.1 ศึกษารายละเอียดของยาจากแพทย์ผู้ให้การรักษา และ/หรือเอกสารความรู้สำหรับประชาชน
1.2 จำชื่อยาที่กำลังได้รับ ในกรณีที่จำไม่ได้ควรถ่ายรูปชื่อยาหรือจดบันทึกไว้ในอุปกรณ์ที่พกพาได้สะดวก เพราะเนื่องจากยานี้เป็นยาใหม่ซึ่งแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปอาจไม่คุ้นเคย การมีข้อมูลชื่อยาที่ถูกต้องสามารถช่วยให้การวินิจฉัยผลข้างเคียงจากยา และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำได้เร็ว มีประสิทธิภาพ
1.3 เตรียมความพร้อมร่างกายและจิตใจ โดยรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เป็นต้น
2) ขณะการรักษา
2.1 เฝ้าสังเกตุอาการตามหัวข้อ 3 อาการเตือนชวนสงสัยผลข้างเคียงจากยาภูมิคุ้มกันบำบัด
2.2 การดูแลเบื้องต้นทั่วไปขณะเกิดอาการข้างเคียงจากยาภูมิคุ้มกันบำบัด คือให้การรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาต้านการอักเสบทาบริเวณที่คันหรือผื่นผิวหนัง ดื่มน้ำเกลือชดเชยในกรณีท้องเสีย รับประทานยาแก้ไอชนิดกดการไอ เป็นต้น จากนั้นปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณา
- ประเมินอาการว่าเป็นจากผลข้างเคียงจากยา หรืออาการจากโรคที่เป็นมากขึ้น
- ประเมินว่าต้องรับไว้เป็นผู้ป่วยในหรือไม่
- พิจารณาหยุดยาหรือให้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดต่อ ตามดุลยพินิจของแพทย์
- พิจารณาการใช้ยาต้านอักเสบสเตียรอยด์
กล่าวโดยสรุปแนวทางดูแลตนเองระหว่างได้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดคือ เข้าใจลักษณะทางยาอย่างง่าย เฝ้าระวังอาการผลข้างเคียง ตระหนักรู้เมื่อมีอาการชวนสงสัย และขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอย่างทันท่วงที ทั้งนี้เป้าหมายคือประสิทธิภาพสูงสุดจากการรักษา จัดการผลข้างเคียงทันการ และคุณภาพชีวิตที่ดี
TH-8492