ผู้ป่วยมะเร็งปอดจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ปริมาตรปอดลดลง ส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นกลไกการขับของเสียในรูปแบบก๊าซของร่างกาย การบริหารปอด โดยใช้อุปกรณ์ช่วยขยายปอด จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ
เรียบเรียงโดย นิดา วงศ์สวัสดิ์
นักกายภาพบำบัด ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ป่วยมะเร็งปอดจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ปริมาตรปอดลดลง ส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นกลไกการขับของเสียในรูปแบบก๊าซของร่างกาย
ผู้ป่วยมะเร็งปอดจะมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของร่างกายจากรอยโรค ภาวะหลังผ่าตัดปอด อาการปวด และการทำกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมต่าง ๆ ได้ลดลง ทุกปัจจัยที่กล่าวมาล้วนมีผลทำให้ปริมาตรของปอดลดลง ส่งผลให้ในการหายใจเข้าแต่ละครั้งปอดสามารถจุอากาศได้น้อยลง ทำให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อย เมื่อร่างกายไม่สามารถแลกเปลี่ยนก๊าซได้อย่างเพียงพอ ปริมาณออกซิเจนในเลือดจึงลดลง เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ดังนี้
ปัจจัยที่ทำให้ปริมาตรปอดลดลง
- การทำกิจวัตรประจำวันได้ลดลง จากอาการของโรค ภาวะปวด และผลข้างเคียงในการรักษา มีส่วนทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรงลง
- การหายใจผิดวิธี อาการปวดทำให้หายใจตื้น ๆ และถี่ ๆ
- กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจหรือกล้ามเนื้อทรวกอกมีความยืดหยุ่นลดลง ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จากการที่ผู้ป่วยมีอาการปวด หรือจากแผลผ่าตัดทำให้มีการเคลื่อนไหวน้อย มีผลต่อการขยายตัวของปอด
- ผลของยาสลบภายหลังของการผ่าตัด เป็นผลให้มีความดันในช่องท้องมาก ซึ่งไปดันการทำงานของกล้ามเนื้อกะบังลม ทำให้ปริมาตรปอดลดลง
ผลเสียที่เกิดขึ้นต่อร่างกายเมื่อปริมาตรปอดลดลง
- มีปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ ส่งผลต่อการทำงานที่ผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย หากปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำมากอาจเสียชีวิตได้
- กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจหรือกล้ามเนื้อทรวกอกอ่อนแรงลง
- การทำกิจกรรมและกิจวัตรประจำวันได้ลดลง มีผลต่อความแข็งแรงและทนทานของระบบหัวใจและหลอดเลือด
- เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย เช่น ภาวะปอดแฟบ
การบริหารปอดโดยใช้อุปกรณ์ เป็นอีกวิธีที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจ ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอด การใช้อุปกรณ์ทำให้ผู้ป่วยมีเป้าหมายในการออกกำลังกาย โดยผู้ป่วยสามารถวัดความก้าวหน้าในการออกกำลังกายได้ด้วยตนเอง เกิดเป็นกำลังใจในการฝึกฝนให้ดียิ่งขึ้น
การบริหารปอดโดยใช้อุปกรณ์ Triflow (Tri ball incentive spirometer)
Triflow เป็นเครื่องบริหารปอดชนิดควบคุมการไหลเข้าของอากาศ หลักการ คือ กระตุ้น ให้ผู้ป่วยสามารถสูดหายใจเข้าแรง ๆ จนลูกบอลลอยขึ้นสูงสุด และลอยค้างนานที่สุด เพื่อให้ได้ปริมาตรอากาศเข้าปอดเต็มที่ ลักษณะอุปกรณ์เป็นกระบอกเชื่อมติดกัน 3 กระบอก ภายในกระบอกมีลูกบอล 1 ลูกบรรจุอยู่
วิธีการใช้ให้สูดหายใจเข้าผ่านบริเวณที่ปากดูด ถ้าอัตราการไหลเป็น 600 ซีซีต่อวินาที จะทำให้ลูกบอลในกระบอกที่ 1 ลอยขึ้น ถ้าจะให้ลูกบอลในกระบอกที่ 2 และ 3 ลอยขึ้นต้องสูดลมหายใจด้วยอัตราการไหล 900 และ 1,200 ซีซี/วินาที ตามลำดับ ควรทำค้างไว้อย่างน้อย 5 วินาที แล้วจึงปล่อยลมหายใจออก พักประมาณ 2 – 3 วินาที แล้วจึงเริ่มต้นใหม่ ควรทำ 5 – 10 ครั้ง/ชั่วโมง
การฝึกหายใจแบบเป่าลมกระดาษ
การฝึกหายใจแบบเป่าลมออกทางปาก เป็นการหายใจออกที่เกิดแรงดันที่ท่อทางเดินอากาศ ลดการตีบแคบของทางเดินหายใจ เริ่มการฝึกผู้ป่วยหายใจเข้า และหายใจออกห่อปากจู๋ แล้วค่อย ๆ ปล่อยลมหายใจออกช้า ๆ ควบคุมให้กระดาษทิชชูปลิวสูงสม่ำเสมอ และนานที่สุด
ที่มา
ทนันชัย บุญบูร./(2561)./รู้ไหม ก่อนผ่าตัดควรฝึกหายใจก่อนนะ./สืบค้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563,/จากเว็บไซต์ https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/
TH-8496