เมื่อได้รับผลการวินิจฉัยที่แน่นอนว่าเป็นมะเร็งปอด แพทย์จะสามารถระบุถึงวิธีที่จะใช้ในการรักษาได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องดูหลายๆปัจจัยประกอบกันด้วย เช่น ความรุนแรงของโรคว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะใด ชนิดของมะเร็งปอด วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล เพื่อการวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่ได้ประโยชน์สูงสุดซึ่งการรักษาอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายอย่างร่วมกันขึ้นอยู่กับชนิด ระยะของโรค และเป้าหมายในการรักษา ในปัจจุบันมีแบ่งการรักษาเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
1. การรักษาเฉพาะที่ (Local treatment)
เป็นการรักษาโดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเฉพาะที่เนื่องจากตัวโรคจำกัดอยู่เฉพาะที่ได้แก่ การผ่าตัด หรือ การฉายรังสี
การผ่าตัด (Surgery) เป็นการผ่าเอาเนื้อเยื่อปอดบางส่วนที่มีเซลล์มะเร็งออก หรือผ่าตัดเอาปอดทั้งข้างออกเมื่อตรวจพบการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปทั่วปอด ทั้งนี้แพทย์อาจมีการเลาะต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกด้วยหากเกิดการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง วิธีนี้เป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก
การฉายรังสี (Radiation Therapy) เป็นการใช้รังสีในปริมาณสูงฉายไปบริเวณที่เกิดมะเร็งปอดขึ้นโดยตรง เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง มักจะใช้ควบคู่กับวิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด
2. การรักษาแบบส่งผลทั่วร่างกาย ( Systematic treatment )
เป็นการรักษามะเร็งด้วยการใช้ยาประเภทต่าง ๆ ผ่านทางระบบ ไหลเวียนเลือดของร่างกาย ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนายากลุ่มต่าง ๆ ที่ใช้ในการรักษาตามชนิดของมะเร็ง ประกอบด้วย
ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการให้ยาเพื่อทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งซึ่งถือว่า เป็นการรักษาหลักของการรักษาด้วยยาที่ใช้มากที่สุดในการรักษาโรคมะเร็งปัจจุบัน โดยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) อาจใช้เป็นการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียว หรืออาจใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาที่เรียกว่า Chemoradiation
ยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นการรักษาโรคมะเร็งแบบออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโต และแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการรักษาโดยการส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพื่อให้สามารถกำจัด หรือควบคุมเซลล์มะเร็งในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
TH-8510